เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner
 นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับทางด้านท้องทะเลและปะการัง ต่างออกมาเปิดเผยว่า เกรตแบร์ริเออร์รีฟ แนวปะการังที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก ยังไม่ตายตามที่นิตยสาร Outside Magazine ได้ให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ สถานการณ์ตอนนี้ของปะการังคืออยู่ในช่วงฟอกขาวเท่านั้น
ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

หลังจากวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นิตยสาร Outside Magazine ได้เขียนบทความถึงเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แนวปะการังขนาดใหญ่ที่มีความยาวมากกว่า 3,000 กิโลเมตร และมีอายุมากกว่า 25 ล้านปี นอกแนวชายฝั่งทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ว่าแนวปะการังแห่งนี้กำลังจะตาย ทำให้คนทั่วโลกต่างตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

โดยต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 นักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลออสเตรเลีย ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าแนวปะการังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ยังไม่ตาย ตอนนี้อยู่ในช่วงระหว่างการฟอกขาวและกำลังเร่งแก้ไข ยังมีโอกาสที่จะฟื้นฟูและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีการปฏิเสธว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟกำลังเผชิญกับปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพราะผลจากการศึกษาล่าสุดเมื่อราวเดือนเมษายน 2016 โดย Australian Research Council’s Centre of Excellence for Coral Reef Studies ได้พบว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวถึง 93% ซึ่งทางด้านตอนเหนือของแนวปะการังได้รับผลกระทบรุนแรงมากถึง 81%

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

การเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิที่สูงมากยิ่งขึ้น จนทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง อันเป็นตัวที่ทำให้ปะการังมีสีสันสดใส สร้างสารชนิดหนึ่งที่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อของปะการัง ทำให้ปะการังต้องขับสาหร่ายออกมาจากเนื้อเยื่อ พอขับสาหร่ายชนิดนี้ออกมา ก็จะเหลือเพียงเนื้อเยื่อใส ๆ ติดกับโครงร่างหินปูนของปะการัง หากอุณหภูมิของน้ำยังสูงต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ปะการังตายและเหลือเพียงแค่โครงร่างหินปูนสีขาว

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

           แต่อย่างไรก็ตามตามแผนการฟื้นฟูปะการัง 2050 (The Reef 2050 Plan) ที่รัฐบาลออสเตรเลียทุ่มงบประมาณไปประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ได้มีผลการรายงานออกมาเมื่อราว ๆ กลางปีที่ผ่านมาว่าผลการดำเนินงานผ่านไปได้ด้วยดีมากกว่า 29% แล้ว นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณที่ดีว่าเรายังคงมีความหวังว่าแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟจะกลับมามีสีสันสวยงามสดใสอีกครั้งหนึ่ง

 

Great Barrier Reef
ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

ภาพจาก XL Catlin Seaview Survey

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2016 แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1998 และปี 2010 ซึ่งทั้งสองครั้งที่ผ่านมาปะการังเหล่านี้ก็รอดมาได้ ในครั้งนี้เราจึงหวังว่าแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟจะเข้มแข็งและผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างดี

สำหรับแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ทอดยาวอยู่ริมชายฝั่งทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ห่างจากแนวฝั่งเมืองควีนส์แลนด์ตั้งแต่ 15-150 กิโลเมตร แนวปะการังมีความยาวประมาณ 3,000 กิโลเมตร บางช่วงมีความกว้างมากถึง 65 กิโลเมตร โดยบริเวณนี้มีปะการังมากกว่า 400 ชนิด ปลาทะเลมากกว่า 1,500 ชนิด นกมากกว่า 200 ชนิด และสัตว์ทะเลอื่น ๆ อีกมากมายหลากหลายสายพันธุ์ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว


ถึงแม้ว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวัน แต่เราเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะสาเหตุของภาวะโลกร้อนและปัญหาของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่นี้ ทุกสิ่งก็ล้วนเริ่มต้นมาจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นต้องตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้นสักนิดแล้วล่ะค่ะ ก่อนที่โลกของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากมายไปกว่านี้ 🙂

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
nsm.or.th, environment.gov.au, globalcoralbleaching.org, globalcoralbleaching.org, gbrmpa.gov.au, cnn.com, greatbarrierreef.org