เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นับตั้งแต่ที่ Edward Jenner ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจากความช่างสังเกตของเขาในปี พ.ศ.2341 ก็ทำให้เกิดการจุดประกายการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่นๆ ตามมาไม่หยุดยั้ง ไข้ทรพิษเป็นตัวอย่างของโรคติดต่อรุนแรงที่ถูกกวาดล้างได้จนเรียบร้อยในปี พ.ศ.2523 เด็กยุคใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษอีกต่อไป

ในปัจจุบันมีโรคติดต่อหลายสิบชนิดที่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้ ปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขในหลาย ๆ ประเทศและรวมถึงประเทศไทยคือ ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีน เพราะวัคซีนหลายชนิดยังไม่ถูกบรรจุเข้าในโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน (EPI) เนื่องด้วยวัคซีนที่ยังมีราคาค่อนข้างแพง ในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคติดต่อที่สำคัญๆ ที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยจะไม่ลงในรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการฉีด

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)
เป็นวัคซีนที่ประชาชนทั่วไปคุ้นเคยมากที่สุด เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ผ่านมา ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เคยมีการระบาดใหญ่ในทวีปยุโรปเมื่อปี 2461-2462 มีคนเสียชีวิตถึง 20 ล้านคน ความตื่นตัวในการฉีดวัคซีนมีมากจนวัคซีนขาดตลาด นอนจากนั้น การระบาดของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น SARS ไข้หวัดนก ก็ทำให้ประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนชนิดนี้ เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ทำให้จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำกันทุกปี

กลุ่มเสี่ยงสำหรับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เด็กที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นประจำ ข้อสำคัญที่ต้องทราบคือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้เฉพาะไข้หวัดใหญ่ (influenza) เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันหวัดธรรมดา หรือหวัดเล็ก (common cold) ได้ แต่ป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ของไวรัสที่ระบุในวัคซีนเท่านั้น

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)
เป็นวัคซีนบังคับสำหรับเด็กแรกเกิดทุกราย ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ การมีวัคซีนชนิดนี้ช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งตับที่มีสาเหตุจากการการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีลงไปได้มาก (ซึ่งโดยมากมักจะติดต่อจากแม่สู่ลูกในช่วงตั้งครรภ์ การให้วัคซีนนี้แก่ทารกที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะจะช่วยลดการติดเชื้อลงได้)

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A vaccine)
เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ซึ่งการติดต่อจะผ่านทางน้ำ อาหารเป็นสำคัญ ซึ่งพบในประเทศ ภูมิภาคที่การสุขาภิบาลยังไม่ค่อยดี ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ในผู้ที่มีปัญหาโรคตับ หรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นอยู่ก่อน อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ การฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็มก็สามารถป้องกันโรคได้

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine)
เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ้ (Streptococcus pneumoniae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในหลายระบบเช่น หู เยื่อหุ้มสมอง ปอด ซึ่งพบมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับม้าม เช่น ธาลัสซีเมีย

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Japanese Encephalitis (JE vaccine)
เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (encephalitis) ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค พบมากในเด็กเล็ก โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมีอัตราตาย หรือพิการสูงมาก การป้องกันการติดเชื้อไว้ก่อนมีความคุ้มค่ามาก

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มีอันตรายสูงมาก อัตราการตายเป็น 100% ในผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการแล้ว แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนล่วงหน้า (pre-exposure prophylaxis) และสามารถป้องกันได้หลังการสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis) เพียงแต่ขอให้ไปฉีดวัคซีนครบตามกำหนด ในกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด ผู้ที่เลี้ยงสุนัข แมว ในบ้าน บุรุษไปรษณีย์ คนที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ สัตวแพทย์ คนทำงานห้องทดลองเกี่ยวกับสัตว์

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (HPV vaccine)
ถือเป็นวัคซีนที่มีประโยชน์สูง เพราะสามารถลดอัตราการติดเชื้อ Human Papilloma virus (HPV) ที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งปากทวารหนัก ข้อควรรู้คือ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV และหูดหงอนไก่ ได้เฉพาะสายพันธุ์ที่ระบุในวัคซีนเท่านั้น และถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องไปตรวจ pap smear ตามข้อกำหนดตลอด

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออก (Dengue vaccine)
ถือเป็นวัคซีนที่รอกันมานานมาก และเป็นวัคซีนตัวล่าที่ออกสู่ท้องตลาด เป็นทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในกลุ่มเสี่ยง

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Diphtheria – Tetanus – Pertussis vaccine; DTP vaccine)
ถือเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับทุกคน โดยที่ ช่วงวัยเด็ก ทุกคนต้องได้รับตามเกณฑ์ที่กำหนด และรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี สำหรับคอตีบและบาดทะยัก ในประเทศไทยอุบัติการณ์การเกิดการระบาดไม่สูงมากนักในสมัยก่อน แต่เมื่อมีการอพยพเข้ามาของแรงงานต่างด้าว ทำให้โรคคอตีบกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้ง

วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน (Measle Mumps Rubella vaccine; MMR vaccine)
เป็นวัคซีนพื้นฐานเช่นเดียวกับ DTP vaccine และ จำเป็นสำหรับสตรีที่กำลังจะตั้งครรภ์ต้องมีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน เพราะโรคติดเชื้อหัดเยอรมันในสตรีตั้งครรภ์จะทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้

นอกจากวัคซีนที่กล่าวมาทั้งหมด ยังมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อในบางกลุ่มประชากร แต่ก็มีความสำคัญและมีความจำเป็นด้วยเช่นกัน เช่น วัคซีนป้องกันงูสวัด วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกคอคคัส วัคซีนป้องกันสุกใส วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากฮิบ (H. influenzae vaccine; Hib vaccine)

เนื่องจากการให้วัคซีนเป็นมาตรการเชิงป้องกัน (prevention) ในการควบคุมโรค ดังนั้นอาจจะยากที่คนบางกลุ่มจะเข้าใจถึงความจำเป็น และความสำคัญในการรับวัคซีนล่วงหน้า แต่การที่บุคคลในชุมชนมีการรับวัคซีนอย่างครบถ้วน (ยกตัวอย่างไข้หวัดใหญ่) ในชุมชนนั้นก็จะเกิดภูมิคุ้มกันโรค และเป็นประโยชน์สำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ไม่ให้ติดเชื้อไปด้วย เราเรียกว่า “HERD EFFECT”

อย่างไรก็ตาม effect นี้จะเกิดเมื่อคนในชุมชนมีการรับวัคซีนมากกว่า 95% ของประชากร บุคลากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่นบุคลากรทางแพทย์ เมื่อเกิดการระบาดของโรค เช่นไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ผ่านมา กลุ่มประชากรนี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ต้องมีภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพาหะแพร่เชื้อจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในประชากรเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการควบคุมการระบาดของโรค