เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ศ.พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบบัตรทอง แถลงข่าวการพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบบัตรทอง ปี 2561 ว่า การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระบบบัตรทอง มีขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ครอบคลุมและทั่วถึง และที่ผ่านมามีการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง หรือโปรโตคอล หรือสูตรยาเคมีบำบัดที่เป็นที่ยอมรับกันในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบบัตรทอง

“ในการจัดทำสูตรโปรโตคอลรักษาผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองจะทบทวนทุก 3 ปี และจากการทบทวนซึ่งจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2560 ที่จากเดิม มีการรักษา 8 กลุ่มโรค 11 โปรโตคอล แต่ในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 11 กลุ่มโรค 21 โปรโตคอล ได้แก่ มะเร็งเต้านม, ปอด, ลำไส้ใหญ่, หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร, ตับทางเดินน้ำดี, หลังโพรงจมูก, นรีเวช ปากมดลูก รังไข่ มดลูก, กระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก, กระดูก, โรคเลือดผู้ใหญ่และในเด็ก” ศ.พญ.สุดสวาทกล่าว และว่า วิวัฒนาการรักษามะเร็งมีความก้าวหน้ามากขึ้น มียารักษามะเร็งที่มีเป้า เช่น ยาต้าน HER-2 ในมะเร็งเต้านมที่มีเป้า HER-2 เป็นบวก ซึ่งยากลุ่มนี้ราคาแพง แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้พิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้ป่วย จึงได้เพิ่มให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกที่มีต่อมน้ำเหลืองเป็นบวก นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้ยามุ่งเป้า Rituximab ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuselarge B cell ที่มีเป้า CD20 เป็นบวกด้วย

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.จะพัฒนา การบริหารจัดการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อไป เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน ครอบคลุมและทั่วถึง.