เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันสำคัญทางศาสนาเวียนมาบรรจบอีกครั้ง คราวนี้เป็นคิวของ ‘วันเข้าพรรษา’ และ ‘วันอาสาฬหบูชา’ ซึ่งมาติดๆ กันทำให้เรามีวันหยุดยาวถึง 3 วันด้วยกัน เอาเป็นว่าอย่ามัวแต่เที่ยวเพลิน หันมาเข้าวัด ทำบุญ เวียนเทียนบ้างก็น่าจะดี

เชื่อว่ามีบางคนที่ยังสับสนเกี่ยวกับการเวียนเทียน ว่าจริงๆ แล้วเราสามารถเวียนเทียนในวันสำคัญทางศานา วันไหนได้บ้าง เอาเป็นว่าเรามาเรียนรู้วิธีการเวียนเทียนที่ถูกต้อง ความสำคัญ และวิธีปฏิบัติกันดีกว่า…

1. การเวียนเทียน คืออะไร?

การเวียนเทียน คือการเดินเวียนรอบปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถานทางศาสนา เช่น พระอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ โดยเป็นการ ‘เวียนประทักษิณาวัตร’ คือเวียนขวา 3 รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้นๆ อย่างสูงสุด

2. ความสำคัญของการเวียนเทียน

ประเทศไทยได้รับคติการเวียนเทียนนี้มาจากอินเดีย พร้อมกับพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้ามา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก โดยปรับประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของไทย ใช้การเวียนเทียนเพื่อแสดงความบูชาต่อพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) มาตั้งแต่โบราณ ราวๆ สมัยทวารวดี รวมทั้งปรากฏข้อความในพงศาวดารว่ามีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

3. เวียนเทียนวันไหนบ้าง?

การเวียนเทียนในปัจจุบัน มักจะทำในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 4 วัน ได้แก่ วันวิสาขบูชา, วันมาฆบูชา, วันอาสาฬหบูชา และวันอัฏฐมีบูชา เพราะเป็นวันที่เกี่ยวเนื่องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น วันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน วันแสดงธรรมครั้งแรก วันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม วันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า เป็นต้น

4. วันอาสาฬหบูชา ไปเวียนเทียนกัน!

สำหรับวันอาสาฬหบูชา 2560 ของปีนี้ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 เป็นวันที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมเทศนา หรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก และเป็นวันที่มีพระสงฆ์องค์แรก ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม จึงมีความสำคัญที่ชาวพุทธควรไปแสดงความเคารพบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล

5. เวียนเทียนต้องทำกี่โมง?

ตามปกติจะมีการเวียนเทียนกันในช่วงบ่าย หรือช่วงเย็นประมาณ 5 โมงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำ แล้วแต่ทางวัดจะสะดวกเวลาไหน ก็ให้แจ้งประชาชนตามเวลาที่กำหนด พุทธศาสนิกชนควรไปถึงวัดก่อนเวลาเวียนเทียนเล็กน้อย เพื่อเข้าไปกราบไว้พระพุทธรูปในโบสถ์ ก่อนที่จะออกมาประกอบพิธีเวียนเทียน

6. ขั้นตอนการเวียนเทียน

การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่ เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน มีลำดับขั้นตอน ดังนี้

– เมื่อไปถึงวัด ให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปด้านในก่อน
– ออกมาเตรียมตัวเวียนเทียน หัวแถวจะมีพระภิกษุเดินนำ ต่อด้วยสามเณร ท้ายสุดเป็นอุบาสก อุบาสิกา ชายหญิงทั่วไป
– จุดธูปเทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือไว้ แล้วเดินตามแถวไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์ เวียนเทียนจนครบ 3 รอบ
– จากนั้นนำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้

7. บทสวดมนต์รอบที่ 1

รอบแรก ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณโดยสวดบทอิติปิโส ดังนี้ “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”

8. บทสวดมนต์รอบที่ 2

รอบที่สอง ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณโดยสวดบทสวากขาโต ดังนี้ “สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก
อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ”

9. บทสวดมนต์รอบที่ 3

รอบที่สาม ให้ระลึกถึงพระสังฆคุณโดยสวดบทสุปะฏิปันโน ดังนี้ “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ”

10. ข้อควรระวัง

เมื่อเริ่มเวียนเทียน ต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย ควรรักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น อาจทำให้บาดเจ็บ และไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่

ที่มา – ไทยรัฐ