เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่คุณแม่ต้องระวังอาการป่วยของลูก อาจบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงได้ต้องหมั่นสังเกตให้ดี วันนี้จึงมีประสบการณ์ของคุณแม่น้องอาวี่มาแชร์ประสบการณ์ลูกป่วยเรื้อรัง รักษาไม่หาย หายใจติดขัด นอนกรน ระวังเป็นโรคนี้มาฝากแม่ๆ

คุณแม่น้องอาวี่ ได้กล่าวว่า “อยากแชร์ประสบการณ์ตรง (หลังจากการผ่ามาแล้ว ประมาณ 5 เดือน)เรื่องของต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก น้องอาวี่จะป่วยบ่อยนอน โรงพยาบาล อาทิตย์เว้นอาทิตย์ เป็นแบบนี้มาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี

จนเมื่อ เดือนมกราคม 2560 น้องป่วยแบบหาย 2 -3 วัน ก็เป็นอีกเลยตัดสินใจให้น้องไปพักผ่อนที่เชียงรายไปอยู่กับป้า ปรากฏว่าน้องอาวี่ไปป่วยที่เชียงราย เหมือนจะเป็นคางทูม ป้าพาน้องอาวี่ไปโรงพยาบาลเกษมราษฯ คุณหมอเฉพาะทาง หู คอ จมูก

คุณหมอก็ได้คุยกับป้าและถามอาการของน้อง ป้าก็เล่าอาการที่ผ่านมาให้ฟังว่าเค้าป่วยจนต้องมาพักที่นี่และแล้ว น้องอาวี่ที่มีอายุ 4 ขวบ 5 เดือนต้องผ่าต่อมอะดีนอยด์นี้ออก เนื่องจากคุณหมอวินิจฉัยว่า ต่อมอะดีนอยด์ของน้องโต(ไม่มากนัก) แต่ฟังจากอาการที่คุณพ่อ(ทางโทรศัพท์) เล่ามาคือ ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาน้องจะมีอาการป่วยเรื้อรัง

ถ้าผ่าต่อมนี้ออก น้องจะมีร่างกายที่ดีขึ้น มีอารมณ์ มีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องมากังวลกับอาการป่วยแบบนี้แน่นอน จะเป็นหวัดเล็ก ๆ น้อยๆ แต่ไม่ต้องแอดมิดไม่เหมือนเดิมแน่นอนครับ” นี่คือคำที่หมอ พูดกับพ่อกับแม่ เพราะพ่อกับแม่ขึ้นไปเชียงราย เพื่อต้องการคุยกับคุณแม่

พ่อกับแม่ตัดสินใจให้ลูกผ่าตัด ในเดือนกุมภาพันธ์ วันผ่าตัดน้องไปนอน โรงพยาบาลตอนเช้า หมอให้ผ่าตอนบ่าย ใช้เวลาในห้องผ่าตัด 1 ชม. และพักฟื้นในห้อง icu อีก 4 ชม. มันเป็น 5 ชม. ที่ยาวนานมากสำหรับคนรอ พ่อ แม่ ป้า ลุง ยืนอยู่ข้างเตียง ในห้อง icu แบบเงียบ ๆ ทุกคน มองไปที่เด็กน้องที่แดงไปทั้งตัวเนื่องจากการผ่าตัด 2 ทุ่ม คุณหมออนุญาต ให้น้องอาวี่ไปพักฟื้นที่ห้องพักได้ สิ่งที่หมอสั่ง คือ กินน้ำหวาน ๆ เย็น ๆ น่ะลูก อมน้ำแข็งก็ได้ จากวันที่ผ่าตัด จนถึงวันนี้ น้องอาวี่สุขภาพดีขึ้นมาก ๆค่ะ”

ต่อมอะดีนอยด์ คืออะไร?

ต่อมอะดีนอยด์เป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของโพรงจมูก ทำหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย และผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนบน จึงเป็นด่านในการจัดการกับเชื้อโรคเวลามีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้หวัด คออักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ต่อมอะดีนอยด์จะทำหน้าที่มากที่สุดในวัยเด็ก และลดบทบาทลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นจะลดขนาดลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่

ต่อมอะดีนอยด์โต เกิดจากอะไร?

ต่อมอะดีนอยด์จะโตได้ เนื่องจากมีการอักเสบ และการระคายเคืองของโพรงหลังจมูก โดยสาเหตุที่สำคัญแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ จากโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน กับ โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง โดยสาเหตุจากโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้แก่ การติดเชื้อเรื้อรังหรือติดเชื้อบ่อยๆ เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นหวัดบ่อยๆ ส่วนสาเหตุจากโรคจมูกอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และ โรคจมูกอักเสบเรื้อรังชนิดไม่แพ้ค่ะ

หากลูกมีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการอย่างไร?

เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการของทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น เช่น หายใจมีเสียงดัง นอนอ้าปากหายใจ นอนกรน สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือหยุดหายใจ เป็นต้น และอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้แก่ รู้สึกง่วง หรืออ่อนเพลียในช่วงเวลากลางวัน จากการนอนหลับไม่เต็มที่ ทำให้เรียนได้ไม่มีประสิทธิภาพ มีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น นอกจากนี้หากมีต่อมอะดีนอยด์โตเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของใบหน้า เนื่องจากต้องอ้าปากหายใจเป็นเวลานาน เช่น ริมฝีปากหุบไม่สนิท ฟันบนยื่น

ต่อมอะดีนอยด์โตเป็นอันตรายหรือไม่?

เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตเรื้อรัง อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและเป็นอันตรายคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยทำให้เกิดการขาดออกซิเจนในช่วงของการนอนตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอันตรายได้ และยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตในปอดสูงได้ค่ะ

หากลูกต่อมอะดีนอยด์โตจะได้รับการรักษาอย่างไร?

การรักษาต่อมอะดีนอยด์โตประกอบด้วย 2 วิธีหลัก คือ การให้ยา และการผ่าตัดยาที่ใช้รักษาต่อมอะดีนอยด์โตได้แก่ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยาต้านลิวโคไทรอีน และยาที่ใช้ในการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของต่อมอะดีนอยด์โต เช่น ยาปฏิชีวนะ สำหรับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ยาแก้แพ้ และ การล้างจมูก สำหรับควบคุมโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ส่วนการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ออกจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ในเรื่องของการติดเชื้อเรื้อรัง หรือเป็นๆหายๆ จนรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น ต้องหยุดเรียนบ่อย หรือมีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ซึ่งใช้ยารักษาแล้วไม่ได้ผลโดยคุณพ่อคุณแม่ควรจะพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อประเมินดูอาการเป็นระยะ อย่างต่อเนื่องนะคะ”

หวังว่าข้อมูลที่นำมาฝากกันจะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่

ที่มา – Herkid