เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

งานนี้ได้มีดราม่าอีกแน่นอน โวยลั่นสนั่นโซเชียลจนเดือดระอุ หลังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เก็บค่าไฟเพิ่มสำหรับผู้ใช้ช่วงกลางคืน อ้างเพื่อสะท้อนต้นทุนและปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่น่าตกใจคือ อาจมีการประกาศใช้ในปีหน้า ด้านนักวิชาการพลังงานอิสระไม่เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ทางที่ดีอย่าตื่นตระหนกจนเกินเหตุ

คิดได้ไง ขึ้นค่าไฟยามราตรี

ในจังหวะ และเวลาที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตยามค่ำคืนทำกิจกรรมต่างๆ หลังกลับจากที่ทำงาน ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง หรือพักผ่อนเอนกายในห้องนอนที่เปิดแอร์เย็นสบาย แต่ล่าสุดต้องสะดุ้งกับข่าว “เรียกเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่ม สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืน”

ไม่แปลกที่ใครหลายคนจะออกมาโวยวาย โดยพุ่งเป้าไปที่กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ “วีระพล จิรประดิษฐกุล” ออกข่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อช่องหนึ่งว่ากำลังพิจารณาแนวทางปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่

“ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ โดยจะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนและปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าสามารถประกาศใช้ได้ในปีหน้า ส่วนในช่วงเวลากลางวัน พบว่า ตามอาคารและบ้านเรือนบางส่วน เริ่มนิยมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น ทำให้ช่วยลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak ในเวลากลางวันได้”

ไม่รู้ว่านี่คือการโยนหินถามทางหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ออกมาโวยวายไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ในขณะที่บางความเห็นมองว่า ชาวบ้านทั่วไปไม่น่าจะได้รับผลกระทบเท่าไร

“ช่วงกลางคืนคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งการไฟฟ้าในเรียกช่วงนี้ว่าออฟพีก (Off Peak) หรือช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ ดังนั้นส่วนตัวมองว่าชาวบ้านทั่วไปไม่น่าจะโดนผลกระทบอะไร แต่พวกที่สะดุ้งจากข่าวนี้น่าจะเป็นพวกโรงงานอุตสาหกรรมเพราะปกติโรงงานไหนที่ใช้กำลังไฟเยอะๆ จะชอบเพิ่มโหลดช่วงออฟพีกมากกว่าออนพีก (On Peak) หรือช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง เพื่อประหยัดค่าไฟ ทางที่ดีอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกันครับ อย่างน้อยนโยบายนี้ก็เก็บเงินเข้ารัฐจากระบบอุตสาหกรรมได้มากขึ้นโดยประชาชนไม่โดนผลกระทบมากเท่าไร ดีกว่าไปขึ้นภาษีนะผมว่า”

ดึงสติ! อย่าตื่นกลัวไปก่อน

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ นักวิชาการพลังงานอิสระ” ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ” ให้ทัศนะผ่านทีมข่าวผู้จัดการ Live โดยอธิบายแนวคิดพื้นฐานให้ฟังก่อนว่า ปกติความต้องการไฟฟ้าสูงสูดในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณบ่าย 2 โมง ซึ่งช่วงไหนที่มีความต้องการการไฟฟ้าสูง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็สูงตามไปด้วย เนื่องจากต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งที่มีราคาถูกและแพง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ

ดังนั้นช่วงไหนที่มีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าสูงก็จะมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในราคาแพง หากความต้องการเปลี่ยนจากช่วงเวลากลางวันไปเป็นกลางคืน แม้ปัจจุบันจะยังมีไม่มากก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีการเรียกเก็บค่าไฟเพิ่มขึ้นในช่วงเวลากลางคืน

“เท่าที่ผมทราบ ตอนนี้ผมยังไม่เห็นข้อมูลว่ามันจะเป็นแบบนั้นนะ เพราะทุกวันนี้ความต้องการการไฟฟ้าสูงๆ จะอยู่ในช่วงเวลากลางวันมากกว่า แต่ตอนนี้มันเริ่มมีประเด็น เพราะบางคนเริ่มผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นหรือเปล่า ทำให้ความต้องการสูงๆ ในช่วงกลางวันอาจไปโผล่ในช่วงกลางคืนแทน ซึ่งในกรณีข่าวที่ออกมา ไม่แน่ใจว่าต้องการสื่อในประเด็นนี้หรือเปล่า”

ทั้งนี้ นักวิชาการพลังงานอิสระทิ้งท้ายว่า “ผมยังไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องตามข่าวในเชิงลึกดูอีกที”

ค่าไฟลดลงได้ ลองอ่านทางนี้…

อย่างไรก็ดี แม้ใครหลายคนจะเป็นกังวลกับกระแสข่าวเรียกเก็บค่าไฟเพิ่มในช่วงกลางคืน แต่เรื่องค่าไฟในปัจจุบันคือตัวเลขที่หลายๆ บ้านไม่ควรมองข้าม เพราะถ้ารู้และเข้าใจก็สามารถลดค่าไฟลงได้

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า “อัตราค่าไฟฟ้า” สำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบคือ

1. การคิดค่าไฟฟ้าแบบ Progressive rate หรืออัตราก้าวหน้า คือค่าไฟฟ้าขึ้นกับหน่วยการใช้ไฟฟ้า ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากก็ยิ่งเสียเงินค่าไฟฟ้ามาก

2. อัตราค่าไฟฟ้า TOU (Time of Use Tariff) หรืออัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาของการใช้ ซึ่งค่าไฟจะแพงในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (On Peak) ระหว่างเวลา 09.00-22.00 น. ของวันจันทร์-วันศุกร์ เนื่องจากการไฟฟ้าต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งที่มีราคาถูกและแพง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ในช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) ระหว่างเวลา 22.00-09.00 น. ของวันจันทร์-วันศุกร์ และทั้งวันของวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการที่ไม่รวมวันหยุดชดเชย ค่าไฟจะถูก

ดังนั้น ถ้าปรับลักษณะการใช้ไฟฟ้าให้มีการใช้ไฟฟ้าน้อยในช่วงกลางวัน (On Peak) และใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางคืน (Off Peak) หรือใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน หรือใช้ไฟฟ้ามากในวันเสาร์-อาทิตย์ ค่าไฟฟ้าก็จะลดลงนั่นเอง

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ จากผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า บ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วง 800-1,500 หน่วยต่อเดือน โดยทั่วไปจะมีเครื่องปรับอากาศเฉลี่ย 2 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง โทรทัศน์ 1-2 เครื่อง หม้อหุงข้าว 1 เครื่อง เครื่องซักผ้า 1 เครื่อง มีการใช้ไฟฟ้ามากในช่วงเวลา 18.00-22.00 น. และเวลา 23.00-07.00 น.ของวันจันทร์-ศุกร์ รวมทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ มีการใช้ไฟมากกว่าวันปกติ อัตราค่าไฟฟ้า TOU จะช่วยลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 300-400 บาท ต่อเดือน

ส่วนบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 1,500 หน่วยต่อเดือน โดยทั่วไปพบว่า มีเครื่องปรับอากาศ 4 เครื่อง ตู้เย็น 3 เครื่อง โทรทัศน์ 4-5 เครื่อง หม้อหุงข้าว 3 เครื่อง เครื่องซักผ้า 1 เครื่อง มีการใช้ไฟฟ้ามาก ตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. เป็นประจำทุกวัน อัตราค่าไฟฟ้า TOU จะช่วยลด ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 1,200-1,700 บาท ต่อเดือน

เห็นได้ว่า หากผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้อัตรา TOU ต้องการให้ค่าไฟฟ้าต่ำลงต้องหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับช่วงเวลาด้วย เช่น เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และใช้ฟ้าน้อยลงในช่วงกลางวัน แต่ใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในช่วงกลางคืน และในวันเสาร์-อาทิตย์

นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดค่าไฟฟ้าที่น่าสนใจ หากผู้ใช้ไฟฟ้าอัตราปกติที่ประสงค์จะเปลี่ยนเป็นอัตรา TOU สามารถยื่นเรื่องได้ที่แผนกบริการ การไฟฟ้านครหลวงเขต ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายด้านเครื่องวัดฯ TOU ตามระดับแรงดันที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟน.

แต่เหนือสิ่งอื่นใด วิธีการประหยัดค่าไฟฟ้าที่ดีที่สุด คือ ใช้ไฟฟ้าอย่างจำเป็น เช่น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม 26 องศาเซลเซียส (เพิ่ม 1 องศา ประหยัดไฟเพิ่ม 10%) และปรับ Cool mode เป็น Fan mode, ปลดปลั๊กไฟเมื่อเลิกใช้, เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานเบอร์ 5, รีดผ้าครั้งละมากๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าภายในบ้านแล้ว ยังได้ช่วยชาติ ช่วยสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย

ที่มา – ผู้จัดการออนไลน์ , สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน