เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อเวลา 9.20น.วันที่ 31 สิงหาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีต ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เดินทางมาเพื่อฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ยกฟ้องโดยไม่รับสำนวนคดีไว้พิจารณา

เนื่องจากศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

การที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ โดยอาศัยสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งไม่มีอำนาจในการสอบสวนดังกล่าว การฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีนี้ ไว้พิจารณา อัยการโจทก์จึงยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณา

โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้วเห็นว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์เเละนายสุเทพเป็นการกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่อำนาจศาลอาญา พิพากษายืนยกฟ้อง

Cr. ข่าวสด

ภาพจาก Nation

TV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool Online