เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นอกจาก คุณหมอเมย์ พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ และทีมแพทย์ผู้ใกล้ชิดในพื้นที่แล้ว ยังมีคุณหมออีกท่านหนึ่งที่คอยตรวจดูรายงานสุขภาพของ “ตูน บอดี้สแลม” อยู่ตลอด

 

และถึงแม้ว่าคุณหมอท่านนี้จะไม่ได้ไปวิ่งกับพี่ตูนทุกวัน แต่ในเรื่องของสุขภาพความพร้อมแล้ว ท่านถือเป็นผู้ที่มีอำนาจเด็ดขาด ในการตัดสินใจว่า “วันพรุ่งนี้พี่ตูนจะได้วิ่งต่อ หรือต้องหยุด”

 

นั่นคือ “พล.ต.นพ.พีระพล ปกป้อง” หรือ “คุณหมอตึ๋ง” ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กรมแพทย์ทหารบก และ เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

 

 

ซึ่งได้เปิดเผยกับสื่อถึงที่มาที่ไปว่าทำไมถึงเป็นคุณหมอ ที่กลายเป็นผู้ตัดสินใจว่าร่างกายของ พี่ตูนสามารถวิ่งต่อได้หรือไม่

 

“ตั้งแต่ที่ตูนวิ่งครั้งที่แล้ว ให้โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีผลตอบรับดี แต่ในตัวงานที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นระบบนัก ทั้งเรื่องการเงิน การดูแลติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมถึงด้านการรักษาความปลอดภัยระหว่างวิ่ง ก็เลยได้มีโอกาสมานั่งคุยกันตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว และเห็นว่ามูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยดูแลระบบตรงนี้ และตูนเองก็เคยรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯอยู่แล้ว ทุกอย่างก็เลยลงตัว ได้มาดูแลและสนับสนุนตูนในโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ”

 

คุณหมอตึ๋ง กล่าวในฐานะคุณหมอที่ดูแลตูนในโครงการนี้ และรุ่นพี่ของพี่ตูนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ

 

 

 

 

และเมื่อถามถึงสุขภาพตอนนี้ของพี่ตูน คุณหมอตึ๋งก็ตอบทันทีว่า “ตอนนี้ตูนแข็งแรงมาก แต่จากที่เมื่อวานนี้มีประชาชนเข้ามาประชิดและเหยียบขาก่อนจะดึงตัวตูน เพื่อขอเซลฟี่ ทำให้ตูนเสียจังหวะ และบาดเจ็บที่หลังและขานั้น แพทย์ต้องติดตามสภาวะร่างกายอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องในทุกวัน และพรุ่งนี้ (15 พ.ย. 60) ก็จะเป็นวันพักของตูนแล้ว เชื่อว่าจะทำให้อาการดีขึ้น”

 

แต่ที่ตอบได้ทันทีว่าตูนแข็งแรงมาก เพราะตูนไม่ได้เพิ่งมาวิ่ง แต่มีการซ้อมมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว และยังมีการไปทดสอบการวิ่งวันละ 50 กิโลเมตร บวกกับช่วงหลังมานี้ สามารถวิ่งได้ตามโปรแกรมที่วางไว้ได้มากขึ้น ถึงแม้จะพบกับฝนที่ทำให้การวิ่งล่าช้าลงไปบ้างก็ตาม

โดยทุกวันจะมีรายงานสุขภาพของ พี่ตูน มาถึงมือหมอ แต่ก่อนที่จะมาถึงนั้นคุณหมอเล่าว่ารอบตัว พี่ตูน ก็มีคนดูแลอย่างใกล้ชิด

 

แบ่งเป็น

  • ทีมแพทย์ใกล้ชิด ที่จะวิ่งไปกับพี่ตูนด้วยอย่างเช่นหมอเมย์ โดยคุณหมอตึ๋งบอกว่า นอกจากห่วงพี่ตูนแล้ว ก็ห่วงหมอเมย์ด้วย จึงบอกหมอไปว่าไม่ต้องวิ่งตลอดก็ได้ ถ้าไม่ไหวก็ให้พักนั่งบนรถบ้างเพราะต้องเป็นคนคอยดูแล และประเมินสถานการณ์เบื้องต้น โดยทีมแพทย์ใกล้ชิดจะต้องคอยนวดกล้ามเนื้อ และเตือนให้พี่ตูนปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

ต่อมาเป็น

  • ทีมรถพยาบาล คุณหมอตึ๋งเล่าต่อว่า ทีมรถพยาบาลแบ่งออกเป็น 3 คัน ด้วยกัน

รถพยาบาลคันที่ 1 เป็นรถพยาบาลระดับสูง ที่ส่งตรงจากโรงพยาบาลพระมงกุฎ ขับประกบพี่ตูนไม่ห่าง โดยรถพยาบาลคันนี้มีเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบ เช่น เครื่องปั๊มหัวใจ เครื่องให้ออกซิเจน

รถพยาบาลคันที่ 2 เป็นรถพยาบาลของโรงพยาบาลในพื้นที่ ของโรงพยาบาล 11 แห่งที่จะได้รับการบริจาค โดยก่อนจะเริ่มโครงการ ได้มีการประชุมกันกับทุกโรงพยาบาลว่า รถพยาบาลของแต่ละที่จะต้องรู้ว่าพิกัดที่วิ่งอยู่ในขณะนั้น ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องวิ่งพาผู้ป่วยไปส่งที่โรงพยาบาลไหนที่ใกล้ที่สุด

รถพยาบาลคันที่ 3 เป็นรถพยาบาลจากโรงพยาบาลของกองทัพบก ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก โดยรถพยาบาลคันที่ 3 นี้จะไม่ได้ขับตามขบวน แต่จะสแตนบาย เตรียมพร้อมอยู่ เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินรถพยาบาลของกองทัพที่อยู่ในพื้นที่นั้น ก็จะพร้อมออกมาช่วยเหลือทันที

ขณะที่ตัว หมอตึ๋ง เปรียบการทำงานของตัวเองว่า “ตัวเขาอยู่ศูนย์กลางของหน่วยบัญชาการในการดูแลพี่ตูนในครั้งนี้ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจว่าพี่ตูนจะได้วิ่งต่อหรือไม่ ก็ต้องฟังคณะกรรมการแพทย์ที่ดูแลอยู่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ”

หลักที่ใช้พิจารณาก็คือ อัตราการเต้นของชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย อัตราการหายใจ ความดัน และปริมาณปัสสาวะ ความเข้มข้นของปัสสาวะ

โดยความเข้มข้นของปัสสาวะจะเป็นตัวชี้วัดว่าเกิดภาวะการสลายของกล้ามเนื้อหรือไม่ และการจะดูว่ามีภาวะการสลายของกล้ามเนื้อหรือไม่นั้น ดูได้จากค่า CPK ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการสลายกล้ามเนื้อ

ถ้าค่า CPK อยู่ในระดับอันตราย ก็ต้องให้พี่ตูนดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อขับ CPK ออกมาทางปัสสาวะ คุณหมอตึ๋งกล่าว ต่อว่า ตอนนี้เรื่องการสลายกล้ามเนื้อก็ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวลเลย เพราะตูนก็มีทีมงานที่ดูแลด้านอาหาร ที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้ออยู่แล้วด้วย

 

คุณหมอตึ๋ง ยังพูดถึงการขอถ่ายรูปเซลฟี่ และการวิ่งไปหยุดทักประชาชนไปว่า

 

 

“ช่วงหลังมานี้ก็ดีขึ้น ประชาชนเริ่มไปรอที่จุดพัก ก็อยากขอความร่วมมือให้ประชาชนทำความเข้าใจว่า ถ้าตูนต้องเปลี่ยนอิริยาบถกะทันหันระหว่างวิ่ง จะส่งผลเสียกับร่างกายของตูน แต่ด้วยความที่ตูนเองเป็นคนที่จิตใจดี เป็นศิลปิน เราก็เข้าใจว่าทุกคนมีความสำคัญกับตูน ก็เคยได้พูดคุยกับทีมว่า อย่าให้การแพทย์ไปรบกวนกิจกรรมหลักในการวิ่ง หมอมีหน้าที่แนะนำสิ่งที่ถูกต้อง ติดตามดูตัวชี้วัดต่างๆ เท่านั้น”

 

 

สุดท้ายคุณหมอตึ๋งฝากไว้ว่า “ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ เพราะที่ตูนทำอยู่ตอนนี้ก็ถือว่ามากเกินกว่าที่หลายคนจะทำได้แล้ว และไม่ว่าตูนจะไปถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย หรือไม่ ใครจะบอกว่าสิ่งที่ตูนทำอยู่จะไม่สำเร็จ หรือไม่ควรทำ”

ตัวหมอเห็นว่าตูนเองมีความเชื่อ เชื่อว่าตัวเขาจะทำได้ ก็ทำให้หมอเองเกิดความเชื่อขึ้นมาด้วยว่าเขาจะทำได้ โดยจะมีกลุ่มของหมอและพยาบาลคอยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อไป

ทั้งนี้เมื่อ พี่ตูน วิ่งมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณวันที่ 1 ธันวาคม นี้ จะวิ่งมาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และจะมีแพทย์ พยาบาล รวมถึงผู้ที่ต้องการบริจาคจำนวนมาก มารวมกันที่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ในโรงพยาบาล จากนั้นจะวิ่งไปที่ซอยรางน้ำ เพื่อให้พี่ตูนได้พักผ่อนที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ด้วย

 

 

ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้กับ “พี่ตูน” และทุกคนต่อไป

 

 

ขอบคุณที่มา : sanook

TV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool Online