เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

 

มะเขือเทศ คือ ผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่ามีความโบราณที่สุด เพราะมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยในตอนแรกนั้น มะเขือเทศก็เป็นเพียงแค่วัชพืชที่ขึ้นท่ามกลางไร่มันสำปะหลังและไร่ถั่ว ซึ่งไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนต่อมาได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ตามธรรมชาติ มนุษย์จึงได้เริ่มนำมาเพาะปลูกเป็นอาหาร โดยชนพื้นเมืองที่นำมะเขือเทศมาปลูกอย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรก ก็คือชาวพื้นเมืองเอซเท็ค (Aztecs) ในประเทศเม็กซิโกนั่นเอง ซึ่งในช่วงเวลาต่อมาที่กองทัพสเปนได้เข้าไปบุกยึดประเทศเม็กซิโกมาเป็นอาณานิคม ก็ได้มีการนำมะเขือเทศกลับไปปลูกที่ประเทศสเปนด้วย จากนั้นมะเขือเทศจึงค่อยๆ กลายเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลาย

มะเขือเทศ (Tomato) นอกจากเป็นสุดยอดสารอาหารของผิวที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านความงาม ยังมีคุณสมบัติต้านโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพราะในมะเขือเทศมีสารอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย สำหรับสารสำคัญที่พบมากในมะเขือเทศมากจะเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ได้แก่ เบตาแคโรทีน (Beta Carotene) และลูทีน (Lutein) ไลโคปีน (Lycopene) แอลฟาแคโรทีน (Alpha Carotene)

ประโยชน์ของมะเขือเทศ
มะเขือเทศทั่วโลกมีมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ ดังที่เห็นบ่อยๆจะมีทั้งแบบลูกเล็ก ลูกใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะล้วนเป็นสีแดงทั้งสิ้น แต่ก็ใช่ว่าจะมีมะเขือเทศเพียงสีเดียวเท่านั้น เพราะในปัจจุบันก็มีมะเขือเทศสีดำ มะเขือเทศสีขาว มะเขือเทศสีม่วง เช่นกัน ซึ่งก็มีประโยชน์และเป็นที่นิยมไม่แพ้มะเขือเทศสีแดงเลย ประเภทของมะเขือเทศในปัจจุบันมีหลายชนิด เช่น มะเขือเทศท้อ มะเขือเทศสีดา มะเขือเทศราชินี มะเขือเทศสีเหลือง มะเขือเทศส่วนประโยชน์ของมะเขือเทศโดยทั่วไปนั้น พบว่ามะเขือเทศอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารมากมายหลายชนิด และที่โดดเด่นที่สุด ก็คือวิตามินซีและวิตามินเอที่พบได้มากในมะเขือเทศ แถมยังเป็นวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้ในมะเขือเทศก็พบสารจำพวกไลโคปีน ที่จะช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดความเสี่ยงโรคร้ายต่างๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อการเสื่อมของร่างกายได้ดี เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ข้อเสื่อม โรคหลอดเลือดและโรคตาต้อกระจก เป็นต้น ซึ่งก็จะเห็นได้ว่ามะเขือเทศมีประโยชน์จริงๆ แถมจากการทดลองในปัจจุบันก็พบว่า มะเขือเทศมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง แก้แผลร้อนในช่องปาก เป็นยาช่วยดับร้อนถอนพิษ และสามารถบรรเทาอาการของโรคหัวใจได้อย่างดีเยี่ยม เพียงแค่ทานมะเขือเทศวันละประมาณ 1-2 ผลเท่านั้น และยิ่งทานมะเขือเทศไปพร้อมกับการรักษาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้มากขึ้นไปอีก ทั้งนี้มะเขือเทศป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ทั้งยังช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด เลือดออกตามไรฟัน ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื่นสดใส ไม่แห้งกร้านช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย มะเขือเทศยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ การเกิดโรคหัวใจวาย โรคหัวใจขาดเลือด ช่วยในระบบย่อยในกระเพาะอาหารและช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวกได้อีกด้วย

โรคหอบหืด สารต้านอนุมูลอิสระอาจจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการป้องกันและขจัดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ แต่การศึกษาความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหอบหืดยังมีอยู่จำกัด มีงานวิจัยผู้ป่วยโรคหอบหืดและการอักเสบของทางเดินลมหายใจ โดยให้ลองรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระต่ำเป็นเวลา 10 วัน จากนั้นให้รับประทานยาหลอก 7 วัน ตามด้วยสารสกัดจากมะเขือเทศที่มีปริมาณไลโคปีน 45 มิลลิกรัมต่อวันอีก 7 วัน และต่อด้วยน้ำมะเขือเทศที่มีปริมาณไลโคปีน 45 มิลลิกรัมต่อวันอีก 7 วัน ผลพบว่า การบริโภคไลโคปีนอาจช่วยลดการอักเสบของปอดในโรคหืด ทั้งนี้ ไลโคปีนในรูปแบบอาหารเสริมควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม และระยะเวลาในการศึกษาค่อนข้างสั้น การระบุประสิทธิภาพของมะเขือเทศต่อการบรรเทาอาการโรคหอบหืดยังคงต้องมีการค้นคว้าเพิ่มขึ้น

โรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาปริมาณไลโคปีน แอลฟาแคโรทีน เบตาแคโรทีน แอลฟาโทโคฟีรอล (α-Tocopherol) เรตินอยด์ (Retinoid) กับความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ชายชาวฟินแลนด์ อายุ 46-65 ปี จำนวน 1,031 คน โดยติดตามผลในช่วงประมาณ 12 ปี ผลพบว่าไลโคปีนในปริมาณสูงจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศอาจช่วยลดความความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและสมองขาดเลือดลง ซึ่งระดับไลโคปีนที่ตรวจพบจากการเจาะเลือด อาจเป็นผลมาจากการรับประทานมะเขือเทศนั่นเอง และนอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่วิเคราะห์อาหารที่ทำจากมะเขือเทศ หรือมีสารไลโคปีนเยอะมีผลต่อความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยกลางคนและสูงอายุด้วยเช่นกัน โดยมี จำนวน 39,876 คน ในช่วงระยะเวลา 7 ปี กลับพบว่าสารไลโคปีนในอาหารไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่การรับประทานไลโคปีนหรือสารพฤกษเคมี (Phytochemicals) อื่น ๆ ที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบอาจส่งผลดีในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) การศึกษาเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดจากมะเขือเทศในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 โดยให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัดจากมะเขือเทศสด 250 กรัม เปรียบเทียบกับยาหลอก ผลพบว่าการรักษาด้วยสารสกัดจากมะเขือเทศระยะสั้น ซึ่งอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้
โรคมะเร็ง (Cancer) สารไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพและพบมากในมะเขือเทศ โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ผ่านการแปรรูปหรือผ่านความร้อน เช่น ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น น้ำมะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น สารไลโคปีนอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอาจช่วยขัดขวางและหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางประเภทเพื่อป้องกันเซลล์ได้รับความเสียหายจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ด้วยเหตุนี้การวิจัยหลายชิ้นจึงให้ความสนใจบทบาทของไลโคปีนต่อการป้องกันโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินในมะเขือเทศที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จึงมีการศึกษาระดับแคโรทีนอยด์และวิตามินต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จากการวิจัยเชิงสังเกตและติดตามผลชายชาวจีนวัยกลางคนและวัยชราจำนวน 18,244 คน ในระยะเวลา 12 ปี โดยเปรียบเทียบกลุ่มคนที่มีระดับความเข้มข้นของแคโรทีนอยด์และวิตามินหลายตัวในเลือดสูงกับกลุ่มทดลอง ปรากฏว่าแคโรทีนอยด์อย่างแคโรทีน ไลโคปีน และวิตามินซี อาจเป็นสารต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการรับประทานแคโรทีนอยด์ในปริมาณสูงก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคกระเพาะอาหารให้น้อยลง แต่ก็คล้ายคลึงกับการวิจัยโรคมะเร็งชนิดอื่นในด้านที่เป็นการศึกษาเฉพาะสารแคโรทีนอยด์และวิตามินทั่วไป ซึ่งร่างกายอาจได้รับจากการรับประทานอาหารประเภทอื่น ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงมะเขือเทศ จึงต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานมะเขือเทศโดยตรง
โรคมะเร็งตับอ่อน แม้ว่าผักและผลไม้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคมะเร็งตับอ่อน แต่บทบาทของสารพฤกษเคมีในกลุ่มอาหารเหล่านี้ยังได้รับความสนใจอยู่น้อย จากการศึกษาความสัมพันธ์ของแคโรทีนอยด์ในอาหารกับความเสี่ยงโรคมะเร็งตับอ่อนในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อน จำนวน 462 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นประชากรชาวแคนาดา จำนวน 4,721 คนจาก 8 รัฐ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการบริโภคอาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบมากหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศที่มีปริมาณไลโคปีนสูงอาจช่วยให้ความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับอ่อนลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอการค้นคว้าต่อในอนาคตเพื่อการยืนยันผลที่แน่ชัด
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเขือเทศอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงที่เรียกว่าไลโคปีน ซึ่งอาจช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากและลดการเติบโตของเนื้องอกในผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอาหารกับความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่จัดทำโดยสมาคมการวิจัยเพื่อการป้องกันโรคมะเร็ง (American Institute for Cancer Research: AICR) ประเทศสหรัฐอเมริกา และกองทุนวิจัยโรคมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund: WCRF) ได้ศึกษากับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวน 1,806 คน และกลุ่มคนปกติ 12,005 คน ผลการวิเคราะห์พบว่าการรับประทานมะเขือเทศ ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ หรือผักชนิดอื่นก็อาจช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ตรงกันข้ามกับการวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแคโรทีนอยด์ในเลือดกับความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากในการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 692 ราย ในช่วง 1-8 ปี ผลการศึกษาพบว่ามีเฉพาะเบตาแคโรทีนในปริมาณสูงที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแต่ไคโลปีนและแคโรทีนอยด์ตัวอื่นไม่พบความเกี่ยวข้องกันกับโรค