เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner
  • การอบรมวินัย ที่ให้ประโยชน์ได้บ้าง (ขึ้นอยู่กับตัวเด็ก และสถานการณ์)
    ถ้าเปรียบการเล่น คืองานของเด็ก ของเล่นก็คือเครื่องมือที่เด็กใช้ในงานเล่นนั่นเอง ดังนั้นการที่คุณเอาของเล่นออกไปจากลูกย่อมดึงความสนใจของเขามาได้ ซึ่งก็จะทำให้เขาอารมณ์เสียทันที คุณควรบอกให้เขาเข้าใจถึงเหตุผลนั้น ถ้าคุณต้องการให้ลูกเคารพในแบบอย่างที่มีความยุติธรรมของคุณ เหตุผลที่ดีในการเอาของเล่นออกไปจากลูกก็ได้แก่ การเล่นที่ผิดวิธีของลูก, ไม่ยอมแบ่งปันหรือไม่ให้เมื่อถึงตาคนอื่น, การใช้ของเล่นนั้นทำร้ายคนอื่นหรือการไม่ยอมเก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ของเล่นของเขาเอง ซึ่งคุณสามารถที่จะช่วยชี้ให้เขาเห็นถึงความสัมพันธ์ของเหตุและผลนี้ เช่น “ถ้าหนูยังใช้รถบรรทุกนั่นตีน้องอีก แม่จะเอามาเก็บไว้” หรือ “ถ้าหนูทิ้งของเล่นไว้เกลื่อนกลาดพื้น แม่จะเก็บทั้งหมดไว้ในตู้ของแม่ แล้วถ้าหนูอยากจะเล่น แม่จะให้หนูเล่นทีละชิ้น เล่นแล้วเก็บชิ้นหนึ่งก่อน แม่ถึงจะให้เล่นอีกชิ้น”

เมื่อคุณเอาของเล่นออกมาจากลูก

• ให้แน่ใจว่า คุณมีเหตุผลที่ดีพอที่ลูกสามารถเข้าใจได้

• อย่าเก็บของเล่นที่เป็นของชิ้นโปรด และลูกติดของเล่นชิ้นนั้นมาก เช่น หมีเท็ดดี้ตัวโปรด

• บอกลูกให้ชัดเจนว่าของเล่นของเขาจะถูกยึดไปนานแค่ไหน และเขาต้องทำตัวอย่างไรจึงจะได้ของเล่นชิ้นนั้นคืนมา (เช่น กล่าวขอโทษที่ไปตีเพื่อน, เอาของเล่นอีกชิ้นของเขาออกไป ฯลฯ)

• อย่าเก็บของเล่นของลูกไว้นานจนเกินไป ควรใช้เวลาให้พอเหมาะที่เด็กจะสำนึกถึงความผิดของเขาได้ ปกติแล้วประมาณครึ่งวัน ถึงหนึ่งวันเต็มก็นานเพียงพอแล้วสำหรับเด็กเล็ก ถ้าคุณใช้เวลานานเกินไป จะทำให้ของเล่นชิ้นนั้น ไม่เป็นที่สนใจของเด็กอีกต่อไป และในครั้งต่อไปการขู่ที่จะเก็บของเล่นก็จะไม่เป็นผลกับเด็กอีก

ข้อดี

• หยุดพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ต้องการลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพฤติกรรมนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับของเล่นชิ้นนั้น

• เปิดโอกาสให้คุณได้สอนลูก

• ทำให้เด็กมีความหวัง มีโอกาสได้กล่าวคำขอโทษ หรือแก้ไขข้อผิดพลาด และได้รับการอภัย

ข้อเสีย

• พ่อแม่อาจถูกมองว่าไม่มีความยุติธรรม ไม่มีเหตุผล หรือชอบบังคับ ถ้าหากการยึดของเล่นชิ้นนั้นไม่มีเหตุผลชัดเจนให้กับลูก

• ถึงแม้ว่ามาตรการนี้จะถูกใช้อย่างยุติธรรมแล้ว เด็กก็อาจยังแสดงอารมณ์โกรธอยู่ในช่วงแรก หรืออาจถึงกับอาละวาด ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรยอมลูกนะครับ

งดกิจกรรมเล่นสนุกชั่วคราว

การลงโทษด้วยการสั่งห้ามไม่ให้ออกไปเล่นข้างนอก หรือสั่งงดกิจกรรมสนุกๆ มักนำมาใช้ได้ผลในการอบรมวินัยให้กับเด็ก นั่นเพราะคำสั่งห้ามไม่ให้เล่นจะมีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ในทันที หากแต่พ่อแม่ควรต้องมีวิธีอธิบายถึงความหมายของการสั่งห้ามนั้นด้วย เช่น “ถ้าหนูไม่เชื่อฟัง แม่จะไม่อนุญาตให้หนูพาเพื่อนมาเล่นด้วย บ่ายนี้หนูต้องเล่นคนเดียวไปจนกว่าหนูจะทำตัวดีขึ้น เชื่อฟังคำสอนของแม่ ถ้าหนูและเพื่อนอยากเล่นด้วยกันที่นี่จริงๆ หนูสองคนก็ต้องเชื่อฟังคำสอนของผู้ใหญ่นะ” หรือ “ถ้าหนูยังอาละวาดงอแงอยู่อย่างนี้ แม่ก็จะไม่พาหนูไปสวนสนุก หนูควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้เมื่อไหร่ แล้วเราค่อยไปพร้อมกัน”

การนำเอากลยุทธ์นี้มาใช้ จำเป็นต้องอธิบายถึงเหตุผลเพิ่มเติมให้ลูกเข้าใจ เช่น “วันนี้หนูอารมณ์ไม่ดี แม่คิดว่าเราน่าจะเลื่อนที่นัดเล่นกับโจน่าห์ไว้ออกไปก่อนนะจ๊ะ เขาคงอยากมาเล่นด้วยถ้าเราเตรียมวางแผนกันใหม่อีกที แต่ว่าลูกต้องควบคุมตัวเองให้ได้นะ ถ้าจะเล่นกับโจน่าห์ ถ้าลูกพร้อมเมื่อไหร่ เราก็ค่อยโทรหาโจน่าห์นะจ๊ะ”

ข้อดี

ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพฤติกรรม และอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ของเขา จะส่งผลต่อกิจกรรมสนุกๆ ของเขาอย่างไร แต่พ่อแม่ต้องให้แน่ใจก่อนว่าได้ลงโทษในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขา และต้องให้ลูกรู้ด้วยว่าเมื่อเขาได้แก้ไขข้อผิดพลาดของตนแล้ว เขาก็จะกลับไปเล่นสนุกในกิจกรรมโปรดของเขาได้ดี เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเด็กอาจเข้าใจผิดคิดไปว่าแม่ไม่ต้องการให้เขามีความสุข ซึ่งก็จะทำให้เขาไม่เกิดการเรียนรู้ หรือพยายามที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น

ข้อเสีย

• ไม่ควรสั่งห้ามเล่น หรืองดกิจกรรมโปรดเพื่อเป็นการลงโทษในพฤติกรรม ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเขา เพราะอาจทำให้เด็กเกิดข้อสงสัยสิทธิ และอำนาจของพ่อแม่ที่มีเหนือเขา และหาวิธีที่จะทำให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการโดยขาดการคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม

• การหาเหตุผลเชื่อมโยงคำสั่งห้าม หรืองดกิจกรรมโปรดของเด็ก ให้สัมพันธ์กับความผิดที่เกิดขึ้น อาจมีความยุ่งยากที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ และยอมรับได้