เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาแผลเป็นให้หายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างวิธีรักษาแผลเป็น ได้แก่ การใช้ยาทาแก้แผลเป็น การใช้แผ่นเจลซิลิโคน การใช้ยาสเตียรอยด์ กรฉีดฟิลเลอร์ เลเซอร์ และการผ่าตัด เป็นต้น จากการศึกษาพบว่า การรักษาแผลเป็นเพื่อให้ดีขึ้นนั้น ควรใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน เช่น ใช้การทำเลเซอร์ การผ่าตัด ร่วมกับการใช้ยาสเตียรอยด์ หรือแผ่นเจลซิลิโคน เป็นต้น สำหรับการใช้ยาทาแก้รอยแผลเป็นเพียงอย่างเดียว ไม่มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ว่าได้ผล แต่อาจช่วยให้แผลเป็นมีสีจางลงได้

เมื่อเป็นแผล ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าตัดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเปิดบนผิวหนังจากอุบัติเหตุ สิว หรือรับการปลูกฝี เมื่อแผลหาย เรามักจะเห็นผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะมีคอลลาเจนเข้ามาทดแทนเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป เกิดแผลเป็นขึ้น เราจะสามารถจัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ได้หรือไม่

แผลเป็นมีลักษณะอย่างไร?

แผลเป็นมีได้หลายลักษณะ กล่าวคือ

• แผลเป็นที่แบนราบแต่มีสีที่อ่อนกว่าหรือเข้มกว่าสีผิวปกติที่อยู่รอบๆ

• แผลเป็นที่มีการดึงรั้งของผิวหนัง ทำให้ผิวมีความบิดเบี้ยวตามแรงดึงรั้งของแผลเป็น เกิดเป็นพังผืด

• แผลเป็นที่มีความนูนหนา มีขอบเขตชัดเจนอยู่บนตัวแผล ไม่ขยายขอบออกจากแผล แผลอาจมีขนาดเล็กลงได้เอง

• แผลเป็นชนิดคีลอยด์ มีความนูนหนาที่ลุกลามอออกนอกตัวแผล มีลักษณะนูนแข็งเห็นชัดเจนจากผิวหนังปกติ และลามไปยังผิวหนังบริเวณข้างเคียง ตัวแผลมักนูนเหนือผิวหนังปกติตั้งแต่ 4 มิลลิเมตรขึ้นไป แผลเป็นจะไม่ยุบหายไปเอง มักพบแผลเป็นคีลอยด์ บริเวณต้นแขน หู หัวไหล่ ผิวบริเวณหน้าอก

จะรักษาแผลเป็นได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถทำให้แผลเป็นดีขึ้นได้บ้าง การรักษามักจะใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่

• การใช้ยาทาแก้แผลเป็น เป็นวิธีที่ใช้กันมากในปัจจุบัน เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ยาทาที่เป็นซิลิโคนเจล ยาทาที่ผสมมิวโคโพลีแซคคาไรด์ เป็นต้น การทายาจะช่วยให้แผลมีสีจางลงหรือบางลงได้ แต่ต้องใช้เวลานาน

• การใช้แผ่นเจลซิลิโคนปิดบนแผนเป็น แผ่นเจลซิลิโคน สามารถยืดหยุ่นตามการเคลื่อนไหวของผิวหนังได้ดี ช่วยลดการขยายตัวของแผล ลดการสูญเสียน้ำออกจากบริเวณรอยแผล มักใช้กับแผลเป็นที่เป็นใหม่ๆ โดยปิดทับแผลมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน อาจใช้ระยะเวลานาน 4-6 เดือน ไม่ควรใช้ในขณะเป็นแผลเปิด

• การฉีดยาสเตียรอยด์ วิธีนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากต้องฉีดยาเข้าใต้แผลเป็น เพื่อให้แผลเป็นยุบตัวลง โดยจะต้องฉีดยาหลายครั้ง ครั้งละประมาณ 0.5-1 ซีซี ห่างกันประมาณ 1 เดือน จะทำให้แผลเป็นแบนราบ ซึ่งใช้เวลาไม่เท่ากันขึ้นกับขนาดแผลเป็น หากมีแผลเป็นขนาดใหญ่จะใช้เวลานาน

• การฉีดฟิลเลอร์ ใช้สำหรับแผลเป็นที่เป็นรอยบุ๋ม แพทย์จะฉีดสารสังเคราะห์เข้าไปในรอยบุ๋ม เพื่อทำให้ผิวดูเต็มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลคงอยู่ประมาณ 6-8 เดือน แล้วต้องฉีดยาเติมใหม่ เนื่องจากสารสังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปในรอยบุ๋ม จะยุบตัวลงเอง สารสังเคราะห์ที่ฉีด ได้แก่ คอลลาเจน และสาร HA (hyaluronic acid)

• การสักสีผิว ใช้กรณีที่สีผิวของแผลเป็นเปลี่ยนแปลงชัดเจนทั้งที่เข้มกว่าและอ่อนกว่าสีผิวปกติ โดยแพทย์จะสักสีเข้าไปในแผลเป็น ถ้าผู้ป่วยผิวสีขาวจะใช้สีขาวในการสัก ถ้าผิวสีแทนจะใช้สีแทนในการสัก เป็นต้น

• การลอกผิวด้วยกรดผลไม้ วิธีนี้เหมาะกับแผลเป็นลักษณะตื้นมากๆ

• การเลเซอร์แผลเป็น การเลเซอร์จะทำลายเนื้อเยื่อผิวที่นูน ให้เรียบขึ้น

• การฉายรังสี เป็นการทำเพื่อไม่ให้แผลเป็นนูนมากขึ้น

• การทำ IPL (intense pulse light) เป็นการใช้พลังงานของแสงไปทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นพังผืดเกิดการเรียงตัวได้เป็นระเบียบ ทำให้แผลมีขนาดเล็กลง การรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่องและใช้เวลานาน

• การใช้ความเย็น (cryotherapy) ซึ่งอาจเป็นไนโตรเจนเหลวจี้บริเวณแผลเป็น เหมาะกับแผลเป็นที่นูนหนา ความเย็นจะทำให้เกิดภาวะถุงน้ำและเกิดการแตกสลายไป

• การผ่าตัดเอาแผลเป็นเก่าออก แล้วเย็บแผลใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง) การผ่าตัดแก้ไขจะทำเหมือนแผลเป็นนั้นสมบูรณ์เต็มที่แล้ว อาจต้องผ่าตัดนำผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งมาปิด แก้ไขแผลเป็นเดิม การผ่าตัดจะต้องทำโดยศัลยแพทย์

จากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ The International Clinical Guidelines for Scar Management 2002 ได้ให้แนวทางการดูแลรอยแผลเป็นไว้ว่า การรักษาที่มีผลทางการแพทย์น่าเชื่อถือเพียงพอ ได้แก่ การใช้แผ่นเจลซิลิโคนและการฉีดยาสเตียรอยด์ ต่อมาในปี ค.ศ.2014 มีการศึกษาเพิ่มเติม สรุปว่า การรักษาแผลเป็นควรใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ตามแต่ชนิดของรอยแผลเป็น เช่น การเลเซอร์แผลเป็น การผ่าตัด ร่วมกับการใช้แผ่นเจลซิลิโคน หรือการเลเซอร์แผลเป็น การผ่าตัด การใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

ยาทาลบรอยแผลเป็นใช้ได้ผลหรือไม่?

การใช้ยาทาลบรอยแผลเป็นเพียงวิธีเดียว ยังไม่มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ว่าได้ผล แต่อาจทำให้แผลเป็นมีสีจางลงได้ ยาทาลบรอยแผลเป็นมีจำหน่ายในรูปแบบครีมและเจล การเลือกใช้แบบใดขึ้นกับสภาพผิวของแต่ละบุคคล

กล่าวคือ ยาทาแบบครีม เป็นยาทาที่มีส่วนผสมของน้ำมันมากกว่าน้ำ จึงทำให้เนื้อครีมมีความเข้มข้นสูง ยาทาประเภทนี้เหมาะสำหรับคนที่มีผิวแห้ง ส่วนยาทาแบบเจล มีส่วนผสมของน้ำเป็นหลัก มีส่วนผสมของน้ำมันในปริมาณน้อยหรือไม่มีเลย ทำให้ซึมลงสู่ผิวได้ง่าย และรวดเร็วกว่ายาทาแบบครีม เหมาะสำหรับคนที่ผิวบอบบางหรือแพ้ง่าย แต่ไม่เหมาะกับคนที่มีผิวแห้ง การทายาควรทาในขณะที่ผิวกำลังเปียกชื้น เช่น หลังล้างหน้า หรือหลังอาบน้ำ เพื่อให้ยาซึมสู่ผิวได้อย่างรวดเร็ว อาจทายาวันละ 2 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้า-เย็น การทายาบ่อยเกินไปไม่สามารถรักษารอยแผลเป็นให้หายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากรอยแผลเป็นจางลงแล้ว สามารถหยุดใช้ยาได้