เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

                  ในปัจจุบันเป็นยุคที่คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายแทบจะทุกครัวเรือน เมื่อผู้ใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กๆ จะมองเห็นและอยากใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์มีความสนุกมากมายรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นเกม การ์ตูน หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถให้ความบันเทิงและความรู้ได้ แต่หากรับชมนานเกินไปย่อมไม่เป็นผลดีทั้งต่อร่างกายโดยเฉพาะดวงตา และจิตใจที่รอคอยไม่เป็น และอาจเข้าสังคมได้ยาก  โดยเด็กแต่ละช่วงวัยจะสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ได้นานไม่เท่ากัน ดังนี้

                – เด็กอายุ 1-3 ปี เป็นวัยที่ยังไม่ควรให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ เพราะเด็กในวัยนี้ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ต้องไปสัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ได้ลงมือกระทำและเลียนแบบจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว การดูโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ จะทำให้พวกเขาไม่ได้รับประสบการณ์จริง อีกทั้งยังไม่ได้ใช้จินตนาการ และยังไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากให้เด็กอายุ 1-3 ปี ได้ดูหน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ก็ได้ไม่เกิน 15 นาที เป็นอย่างมาก

                – เด็กอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์ความรู้สึก จิตใจ หากได้ดูภาพจากจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเกินไปจนสมองประมวลผลไม่ทัน ก็อาจทำให้เกิดความก้าวร้าวได้ อีกทั้งเด็กในวัยนี้กำลังเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ อาจเลียนแบบความก้าวร้าวรุนแรงที่เห็นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้การดูหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังอาจทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น จึงควรให้เด็กอายุ 3-5 ปี ได้ดูหน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ได้ไม่เกินครั้งละ 30 นาที เป็นอย่างมาก

                – เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เริ่มมีพัฒนาการ สามารถมีวิจารณญาณรับรู้ว่าอะไรคือความเป็นจริง อะไรคือการแสดง แต่หากให้ดูหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเกินไปโดยไม่มีการทำกิจกรรมอื่นก็อาจทำให้ไม่ได้ออกกำลังกายจนร่างกายอ่อนแอ อาจเกิดโรคอ้วน และกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงได้ นอกจากนี้การใช้สายตากับหน้าจอเหล่านี้เป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ดวงตาเสียหายได้ จึงควรให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ดูหน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ได้ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เป็นอย่างมาก

ผลกระทบของการให้เด็กดูหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานเกินไป

                – ผลกระทบต่อดวงตา อาจทำให้เกิดภาวะตาแห้ง เพราะเมื่อดูหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ จะมีการกะพริบตาลดลง เมื่อกระพริบตาลดลงจึงมีการกระตุ้นให้สร้างน้ำตามาเคลือบผิวตาน้อยลง เกิดภาวะตาแห้ง ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาเกิดความเสียหายตามมาได้ จึงไม่ควรให้เด็กจ้องมองหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเกินไป นอกจากนี้การดูหน้าจอเป็นเวลานานยังทำให้ตาล้า อาจเกิดอาการปวดตา ตาพร่ามัว หรือแสบตาได้

                – ผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ได้ออกกำลังกาย และยังอาจกินอาหารหรือขนมในระหว่างเล่นโทรศัพท์มือถือ อาจทำให้เกิดโรคอ้วน คอเลสเตอรอลสูง หากยังคงอ้วนจนโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคร้ายหลายอย่างตามมา เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ หากใช้คอมพิวเตอร์ อาหารที่กินมักจะตกไปที่คีย์บอร์ด เมื่อนิ้วต้องสัมผัสกับคีย์บอร์ดที่มีอาหารที่ปะปนเชื้อโรค แล้วไปหยิบอาหารเข้าปาก ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้

                – ผลกระทบต่อจิตใจ จะเป็นคนที่รอคอยไม่เป็น ต้องการความรวดเร็วทันใจอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย และยังอาจจะมีสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นาน เพราะในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่โทรทัศน์ เมื่อหมดความสนใจในเกมหรือคลิปใดคลิปหนึ่ง ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นได้ตลอดเวลา แตกต่างจากในชีวิตจริงที่ไม่มีอะไรสามารถตอบสนองในทันใจเช่นนั้น

                – ผลกระทบด้านภาษา การดูหน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เป็นการสื่อสารทางเดียว (one way communication) ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องโต้ตอบ ในขณะที่เด็กต้องฝึกการใช้ภาษาโต้ตอบกับผู้คน ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง (two way communication) เด็กจึงอาจจะพูดได้ช้าและไม่สามารถโต้ตอบได้ดีเท่าที่ควร เด็กอายุ 1-5 ปี ที่ยังหัดพูด หัดโต้ตอบอยู่ จึงไม่ควรให้ดูหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน

วิธีการป้องกันไม่ให้เด็กดูหน้าจออิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานเกินไป

                – กำหนดเวลาในการดูโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน คือไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง หลังทำกิจกรรมที่จำเป็นเสร็จแล้ว เช่น การรับประทานอาหาร ทำงานบ้าน และทำการบ้าน เป็นต้น

                – สรรหากิจกรรมอื่นให้เด็กได้ทำ เช่น การเล่นดินเล่นทราย เล่นกีฬา พาออกไปเรียนรู้ธรรมชาตินอกบ้าน สวนสาธารณะ หรือไปพิพิธภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ชีวิตที่ดีให้กับเด็ก

                – ให้เด็กได้มีโอกาสเข้าสังคม โดยอาจพาไปหาญาติ เช่นปู่ย่าตายาย หรือไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่โรงเรียน นัดกันไปพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เด็กได้มีการใช้ภาษาโต้ตอบ และได้รับประสบการณ์ชีวิตที่ดี

                – สนใจว่าเด็กๆ ดูเนื้อหาอะไรในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์ และให้คำแนะนำที่เหมาะสม หรือสรรหาเนื้อหาที่เหมาะสมในการให้ความรู้กับเด็กๆ เสริมไปกับเนื้อหาที่เด็กได้ดูอยู่เดิม

by TVPOOL ONLINE