ปรอท เป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่อาจพบปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน โคลน แหล่งน้ำ ซึ่งการปนเปื้อนของสารปรอทไปยังอาหาร มักเกิดจากน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมไปยังแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งของสัตว์น้ำ เช่น ปลา หอย ปลาหมึก และปรอทจะสะสมในอาหารดังกล่าว การรับประทาน อาหารที่ปนเปื้อนสารปรอท ผู้บริโภคจะไม่รู้ตัวและไม่มีการแสดงอาการ จนกระทั่งร่างกายสะสมจนถึงระดับหนึ่ง สารปรอทจะค่อยๆ มีการสะสมในร่างกายและจับตัวกับเนื้อเยื่อในระบบประสาท ตับ และไต ที่มีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายไม่สามารถขับสารปรอทออกจากร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาท สมอง และอวัยวะต่างๆ รวมถึงเกิดปัญหารุนแรงในหญิงตั้งครรภ์และในเด็กเล็กที่บริโภคอาหารปนเปื้อนสารปรอทเข้าไป โดยพบว่าความสามารถในการเรียนรู้จะลดลง เกิดอาการชัก ตาบอด และหูหนวกได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอาการถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีได้เหมือนเดิม
ค่ามาตรฐานความปลอดภัย
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการปนเปื้อนของปรอทในอาหาร ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น
คำแนะนำ
การเลือกซื้ออาหารทะเลสด ควรสังเกตดูเปลือกและผิวหนัง หากตรวจดูแล้วแต่ยังไม่แน่ใจ อาจเทียบสีและกลิ่นของสัตว์ทะเลกับร้านขายที่อยู่ข้างเคียงก่อนตัดสินใจซื้อ หากพบว่าผิดปกติก็ไม่ควรรับประทาน ในกรณีที่เกิดอาการผิดปกติภายหลังจากการรับประทานอาหารทะเลที่ต้องสงสัย ควรพบแพทย์ทันที
การเลือกซื้ออาหารทะเลตากแห้ง จะต้องดูสีของอาหารว่าสดเกินไปหรือไม่ และเนื้อของอาหารมีการเปื่อยยุ่ยหรือไม่
การเลือกซื้ออาหารกระป๋อง ประเภทอาหารทะเล มีข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อ ดังนี้
1.) วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ
2.) ภาชนะที่บรรจุ ต้องไม่ยุบ โป่ง บวม มีรอยรั่ว หรือเป็นสนิม
3.) แหล่งผลิตและสถานที่ผลิต
4.) ฉลากควรมีชื่อ และส่วนประกอบต่างๆ ของอาหารอย่างชัดเจน รวมถึงเลขจดทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข และควรมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย
by TVPOOL ONLINE