เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เตือนกินเห็ดป่าฤดูฝน เสี่ยงอันตรายเจอเห็ดพิษ แนะวิธีป้องกันและบรรเทาอาการเบื้องต้น ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านและสมุนไพรล้างพิษใกล้ตัว และควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เห็ดเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย และช่วยให้เจริญอาหาร งานวิจัยในปัจจุบันยืนยันว่าเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดหอม และเห็ดหลินจือ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ คุณสมบัติเด่นของเห็ด คือ มีไฟเบอร์สูงและ แคลอรี่ต่ำ มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 5-34 % มีไขมันต่ำเพียง 1-8 % ของน้ำหนักแห้ง 100 กรัม มีแร่ธาตุ และวิตามินสูง เห็ดจึงเป็นอาหารสุขภาพที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพดี ตัวอย่างเห็ดป่าที่กินได้และรู้จักกันดีในประเทศไทย เช่น เห็ดระโงกขาว เห็ดโคน เห็ดขอน และเห็ดเผาะ เป็นต้น

แม้เห็ดส่วนใหญ่จะรับประทานได้และมีประโยชน์ แต่เห็ดบางชนิดก็มีพิษร้ายแรง สามารถทําลายเซลล์ของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจ ระบบสมอง และทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ความตายได้ อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษคือ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ท้องร่วง ความรุนแรงขึ้นกับเพศ อายุ และปริมาณในการรับประทาน ภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการสืบทอดความรู้ในการสังเกตเห็ดพิษดังนี้

หากเห็ดชนิดนั้นขึ้นอยู่ใกล้มูลสัตว์ มีสีน้ำตาลหรือ สีสันฉูดฉาด หมวกเห็ดมีปุ่มปม มีวงแหวนใต้หมวก หรือเมื่อดอกแก่ มีกลิ่นเอียนหรือกลิ่นค่อนข้างแรง ก็ให้พึงระวังว่า จะเป็นเห็ดพิษ สารพิษในเห็ดโดยส่วนใหญ่จะสลายตัวด้วยความร้อน ดังนั้นจึง ควรปรุงให้สุก ไม่ควรกินเห็ดดิบโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ เมื่อได้รับสารพิษจากเห็ด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากล้วงคอเพื่ออาเจียนแล้ว การดื่มน้ำคั้นจากใบรางจืดก็สามารถล้างพิษเห็ดได้เบื้องต้น และรีบไปพบแพทย์ในทันที ข้อห้ามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หลังจากบริโภคเห็ดป่าโดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้พิษกระจายรวดเร็วขึ้น ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้

ในช่วงฤดูฝนที่มีเห็ดป่าขายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย แนะนำให้ประชาชนบริโภคเฉพาะเห็ดที่ตนเองรู้จักและ เคยรับประทานเท่านั้น หากไม่มั่นใจว่าเห็ดที่พบเห็นสามารถกินได้ หรือไม่มีใครเคยนำมากิน หรือมีรายงานประวัติ ความเป็นพิษของเห็ดดังกล่าว ก็ไม่ควรรับประทาน และให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเห็ดให้แน่ชัด