ปาน คือร่องรอยของจุดสีบนผิวหนัง ซึ่งมักปรากฏขึ้นเมื่อแรกคลอดหรือหลังคลอดได้ไม่นาน ปานมีทั้งลักษณะเรียบและนูน ขนาดเล็กและใหญ่ อีกทั้งสีก็แตกต่างกันไป อาจปรากฏอยู่บนผิวหนังตลอดชีวิตหรือค่อย ๆ หายไปเมื่อโตขึ้นทางการแพทย์มักแบ่งประเภทของปานไปตามชนิดของเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น เซลล์สร้างเม็ดสีหลอดเลือด ทางเดินน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ เป็นต้น ปานบางชนิดจะสามารถหายไปได้เอง โดยไม่ต้องได้รับการรักษา ใด ๆ บางชนิดมีอาการคงตัวไม่เปลี่ยนแปลง หรือบางชนิดอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ปานบางชนิดสามารถพบร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม ปานที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. ปานมองโกเลียน
ลักษณะปาน มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือ ฟ้าเข้ม พบได้บ่อยบริเวณก้นและสะโพก ปานแบบนี้อันตรายหรือไม่ ? ปานชนิดนี้จะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อลูกโตขึ้นประมาณ 1 ขวบขึ้นไป
การดูแลรักษา ดูแลรักษาความสะอาด บำรุงผิวพรรณลูกด้วยผลิตภัณฑ์เด็กที่อ่อนโยนปกติ ปานชนิดนี้มักจางหายไปได้เอง ไม่มีอันตรายใด ๆ
2. ปานสีกาแฟใส่นม
ลักษณะปาน มีลักษณะเป็นปานสีน้ำตาลอ่อน ๆ มีรูปร่างกลมหรือรี มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันได้ สามารถพบได้ในตำแหน่งต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และอาจจะขยายขนาดได้
ปานแบบนี้อันตรายหรือไม่ ? ปานชนิดนี้มักจะคงอยู่ตลอดชีวิต และเมื่อโตขึ้นลักษณะของปานในส่วนของ ขอบเขต สี ไม่ได้เปลี่ยนไปก็ไม่มีอันตราย แต่หากสังเกตพบปานชนิดนี้ปริมาณมาก หรือมีขนาดใหญ่ อาจเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับโรคพันธุกรรมบางชนิด ควรพาลูกไปพบคุณหมอ
การดูแลรักษา ปานสีกาแฟใส่นม สามารถรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ แต่ควรปรึกษาคุณหมอด้วยว่าปานมีความเกี่ยวข้องกับโรคพันธุกรรมด้วยหรือไม่
3. ปานดำแต่กำเนิด
ลักษณะปาน ปานในช่วงแรกเกิดจะสีค่อนข้างแดง ต่อมาจะค่อย ๆ มีสีเปลี่ยนไป เป็นสีดำ หรือน้ำตาลเข้ม บริเวณปานอาจจะนูนหรือขรุขระขึ้น และอาจมีขนงอกบริเวณปานด้วย
ปานแบบนี้อันตรายหรือไม่ ? ปานชนิดนี้ ต้องคอยสังเกตหากมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก กว่า 7 ซม. อาจจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง ดังนั้นหากปานเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรรีบพาลูกไปให้คุณหมอเฉพาะทางตรวจรักษา
การดูแลรักษา ปานดำแต่กำเนิดรักษาได้ด้วยการศัลยกรรม แต่หากปานที่มีขนาดใหญ่ อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ควรปรึกษาคุณหมอ
4. ปานแดงเส้นเลือดฝอย
ลักษณะปาน เป็นปานแดงที่มักปรากฏอาการตั้งแต่แรกเกิด และจะคงอยู่ตลอดชีวิตไม่จางหายไป รอยโรคจะขยายขนาดโตตามตัวของผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานจะมีสีเข้มขึ้น รวมทั้งอาจนูนหนาและขรุขระเพิ่มขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น
ปานแบบนี้อันตรายหรือไม่ ? หากพบปานชนิดนี้บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจพบความผิดปกติของดวงตาและสมองได้ จึงควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด
การดูแลรักษา ปานแดงชนิดนี้สามารถรักษาโดยใช้เลเซอร์ได้ ซึ่งการตอบสนองต่อการรักษาขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของปาน
5. ปานสตรอว์เบอร์รี
ลักษณะปาน เป็นตุ่ม ก้อนนูนสีแดงหรือม่วงเข้ม บริเวณใบหน้า ลำคอ ช่วงแรกจะโตเร็วมากคล้ายลูกสตรอว์เบอร์รีและค่อย ๆ หยุดจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบ จากนั้นจะมีสีม่วงคล้ำขึ้น ส่วนใหญ่จะยุบหายไปเองได้หมดเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น 6-7 ขวบ เหลือเป็นแผลเป็นจาง ๆ
ปานแบบนี้อันตรายหรือไม่ ? ส่วนใหญ่ปานแดงสตรอว์เบอร์รีจะหายไปได้เอง แต่ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากปานแดงชนิดนี้ได้ เช่น ทำให้ เลือดออก ปานชนิดนี้เกิดจากเส้นเลือดฝอย มีการขยายขนาดรวมตัวกัน มากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นจึงอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับเลือดออกได้
การดูแลรักษา ส่วนใหญ่ปานจะหายได้เอง แต่บางครั้งถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อน คุณหมออาจจะรักษาตามลักษณะอาการ เช่น ให้ยาสเตียรอยด์ จี้ด้วยไฟฟ้า จี้โดยใช้ความเย็น หรือการใช้เลเซอร์รักษา
by TVPOOL ONLINE