เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2561 พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช. โดยเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย ครบทั้ง 64 คู่ ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน 15 กรกฏาคม 2561 ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ผ่านทางช่องที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ดิจิทัลทีวี) จำนวน 3 ช่อง ได้แก่ ช่องหมายเลข 1 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่องหมายเลข 34 อมรินทร์ ทีวี เอชดี และช่องหมายเลข 24 True4U เพื่อให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้รับชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รองประธาน กสทช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.ได้เห็นชอบให้บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ถ่ายทอดสด และเผยแพร่รายการซ้ำ รายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย ครบทั้ง 64 คู่ ผ่านโครงข่าย และช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ทั้งในระบบดาวเทียม (Satellite) ระบบเคเบิล (Cable TV) และระบบไอพีทีวี (IPTV) โดยรายการแข่งขันจำนวน 56 คู่ ผ่านช่องรายการ True Sport HD 3 ในระบบ HD และช่องรายการ True4K ในระบบ 4K (UHD: Ultra High Definition) สำหรับรายการแข่งขันอีกจำนวน 8 คู่ ให้สามารถถ่ายทอดสดผ่านช่องรายการ True Sport HD 2 ในระบบ HD เพื่อเพิ่มทางเลือกการรับชมให้กับประชาชน นอกเหนือจากการรับชมผ่านโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป

โดยกสทช.ไฟเขียว 3 ช่องทีวีดิจิทัล “ททบ.5-อมรินทร์ ทีวี-true4u” ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ตามกฎ must have พร้อมอนุญาต “ทรูวิชั่นส์” ถ่ายทอดผ่านเคเบิล-ดาวเทียมได้ และอนุญาตให้ true4u อัพเกรดสัญญาณเป็น HD ช่วงถ่ายทอดสดเพื่อเพิ่มคุณภาพการรับชมโดยต้องไม่กระทบโครงข่าย

ส่วนกรณีที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย ในระบบความคมชัดสูง (HD: High Definition) ผ่านช่องหมายเลข 24 True4U สามารถทำได้เฉพาะการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้ายเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มคุณภาพในการรับชมรายการโทรทัศน์สำคัญให้กับประชาชน โดยต้องไม่กระทบต่อมาตรฐานการให้บริการโครงข่ายของให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ (MUX)

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. เห็นชอบกำหนดหลักการข้อยกเว้นของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) คือ 1. การถ่ายทอดสดรายการโทรทัศน์สำคัญที่ได้ออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์เป็นการทั่วไปแล้ว และหากเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนสามารถดำเนินการได้ และ 2. กรณีการถ่ายทอดสดรายการโทรทัศน์สำคัญภายใต้การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ในระบบความคมชัดที่แตกต่างจากมาตรฐานความคมชัดที่ได้รับอนุญาต เพื่อเพิ่มคุณภาพในการรับชมรายการโทรทัศน์สำคัญให้กับประชาชน จะต้องไม่กระทบต่อมาตรฐานการให้บริการโครงข่ายของให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ (MUX)

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (MUST CARRY) ว่าให้ผู้รับอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มีหน้าที่ต้องให้สมาชิกได้รับบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปได้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทําซ้ำ ดัดแปลง ผังรายการ หรือ เนื้อหารายการ โดยเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (MUST CARRY) และสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.215/2557 ที่พิพากษาให้ประกาศ MUST CARRY ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เนื่องจากประกาศ กสทช. ดังกล่าวไม่ได้มีข้อจำกัดสิทธิของผู้มีสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด หากแต่วิธีการหรือช่องทางการเผยแพร่ดังกล่าวผู้มีสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ก็ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และควบคุมการออกอากาศการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปดังกล่าวให้ออกอากาศเฉพาะในประเทศไทย