เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีขอให้ทบทวนโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟส 1 ไม่มีสถานีระยอง คาดจะสามารถหาผู้ร่วมลงทุนและก่อสร้างส่วนที่ต่อจากอู่ตะเภาไประยองให้แล้วเสร็จ ภายในปี 68

วันที่ 1 มิถุนายน 2561 นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงประเด็นขอให้ทบทวนโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟส 1 ไม่มีสถานีระยอง ตามที่มีสื่อเสนอข่าวว่า องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดระยอง ได้แก่ หอการค้าจังหวัดระยอง – ชมรมธนาคารจังหวัดระยอง – สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว จังหวัดระยอง ประชุมถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น

หลังจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เฟส 1 ไม่มีชื่อสถานีระยอง หรือสถานีที่ 10 อยู่ในโครงการ เฟส 1 นั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวระยองมาอย่างต่อเนื่อง โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เฟส 1 จะมาถึงตัวเมืองระยอง แต่สุดท้ายได้มีการตัดเส้นทางก่อสร้างมาจังหวัดระยอง หรือสถานีระยอง ออกจากโครงการ ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เฟส 1 จะสิ้นสุดแค่เพียงสนามบินอู่ตะเภาเท่านั้น

การรถไฟฯ ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. วันที่ 23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนให้ศึกษาและพัฒนาขยายทางรถไฟต่อจากโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ไปยังจังหวัดชลบุรี และเมืองพัทยา

2. วันที่ 7 กันยายน 2554 รวค. สั่งการให้ รฟท. เร่งดำเนินโครงการ โดยให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะศึกษาและพัฒนาโครงการต่อจากเมืองพัทยาไปยังอำเภออู่ตะเภาและต่อเนื่องสู่จังหวัดระยอง

3. รฟท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม สำรวจ และออกแบบรายละเอียด โครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ชลบุรี – พัทยา ไปถึงระยอง (โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง) เริ่มงานในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 และแล้วเสร็จในวันที่ 1 ธันวาคม 2557

4. รฟท. ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการตามที่กล่าวมาในความเป็นมา 3 ซึ่งรวมถึงแนวเส้นทางผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และต่อขยายเพื่อเข้าสู่ตัวเมืองระยอง โดยได้ทำการแก้ไขและเสนอให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และได้มีการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) ทั้งสิ้น 6 ครั้ง ดังนี้

4.1 การประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 3/2557 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2557

4.2 การประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 29/2558 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2558

4.3 การประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 6/2559 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559

4.4 การประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 24/2559 ในวันที่ 5 สิงหาคม 2559

4.5 การประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 6/2560 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560

4.6 การประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 30/2560 ในวันที่ 20 ตุลาคม 2560

ที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดระยอง โดยสรุปได้ ดังนี้

(1) ให้พิจารณาทบทวนความเหมาะสมในการกำหนดแนวเส้นทางผ่านเข้าไปพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้เสนอข้อมูลหลักฐานสถิติการเกิดอุบัติเหตุภายในนิคมฯ ให้ประสานงานและขอความยินยอมให้แนวเส้นทางผ่านในนิคมฯ ให้เสนอแผนการป้องกันและลดผลกระทบภายในนิคมฯ ให้ทบทวนการเบี่ยงแนวเส้นทางออกพื้นที่โดยใช้พื้นที่ของทางหลวงหมายเลข 363 ที่ผ่านด้านหน้านิคมฯ และให้ประสานผู้ประกอบการในการนิคมฯ ให้ได้รับข้อมูลผลกระทบทางบวกและลบจากการดำเนินโครงการ

(2) ให้ประสานกรมทางหลวงในเรื่องการใช้พื้นที่เกาะกลางทางหลวงหมายเลข 36 ตลอดจนรูปแบบการระบายน้ำของทางหลวง และการเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 304

5. คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการนโยบาย) ในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันพุธที่ 5 เมษายน 2560 ที่ประชุมมีมติมอบให้ คค. โดย รฟท. เป็นหน่วยงานหลักเร่งการศึกษาระบบราง (รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก แอร์พอร์ตเรล ลิงก์ส่วนปัจจุบันและส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง) เพื่อให้แนวเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงสามารถเชื่อมโยง 3 สนามบิน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 100 ล้านบาท

6. รฟท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษา ทบทวนและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงานตาม พรบ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2556 ของ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ลงวันที่ 9 มิถุนายน ๒๕60

7. คณะกรรมการนโยบายในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ใน EEC Project List ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของทางรัฐบาล และมีแผนงานที่จะลงนามในสัญญาให้ได้ภายในปี 2561 โดยจะต้องดำเนินการตามประกาศคณะกรรมนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560

8. รฟท. ได้หารือร่วมกับ สผ. และ สกรศ. เพื่อผลักดันโครงการฯ อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนงานของทางรัฐบาล แต่เนื่องจากปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามเรื่องเดิม 4 ซึ่งจะทำให้โครงการล่าช้าออกไป สกรศ. จึงได้รายงานคณะกรรมการนโยบายในการประชุมครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

โดยที่ประชุมมีมติให้ปรับแผนดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้เร็วขึ้น และให้ประกาศ TOR เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะที่ 1 จากท่าอากาศยานดอนเมืองสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ภายในเดือนมกราคม 2561 ให้ลงนามสัญญากับเอกชนในเดือนกันยายน 2561 และให้ดำเนินการศึกษาเส้นทางที่เหมาะสมและออกแบบรถไฟความเร็วสูงของระยะที่ 2 จากสนามบินอู่ตะเภาจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด โดยเร็ว

9. คณะกรรมการนโยบาย ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 มีมติ เห็นชอบให้ คค. โดย รฟท. ศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะที่ 2 จากสนามบินอู่ตะเภาผ่านจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ให้ครอบคลุมการออกแบบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุน โดยให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2561 กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท

10. สถานะของแผนงานโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงอู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ปัจจุบัน รฟท. กำลังดำเนินการเพื่อเร่งรัดจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวนแนวเส้นทางที่เหมาะสม และออกแบบรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 จากสนามบินอู่ตะเภาไปยังจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด ให้ได้ที่ปรึกษาภายในเดือนกรกฎาคม 2561 และศึกษา ทบทวน และออกแบบเบื้องต้นแล้วเสร็จภายในปี 2562 และคาดว่าจะสามารถหาผู้ร่วมลงทุนและก่อสร้างส่วนที่ต่อจากอู่ตะเภาไประยองให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2568 (ประมาณ 2 ปี หลังจากระยะที่ 1 เปิดให้บริการ)