เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ภาพลักษณ์ “นักการเมืองสีเทา” จากกรณี ส.ป.ก.

หนึ่งในความทุกข์แสนสาหัสของชายชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ เกิดขึ้นในช่วงอายุ 45-46 ปี หลังเข้าสู่วงการการเมืองได้ 15 ปี นั่นคือปัญหา ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่เขาเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพราะนอกจากทำให้นายสุเทพต้องทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรี ยังทำให้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ต้องล้มไปด้วย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2537 เมื่อนายสุเทพเดินทางไปมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 592 แปลงให้เกษตรกร 489 คน ปรากฏว่ามีคนใน “11 ตระกูลดัง” ของภูเก็ต รวมถึงนายทศพร เทพบุตร สามีของนางอัญชลี วานิช ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเอกสารสิทธิ์ด้วย เป็นผลให้ถูกร้องเรียน-ตั้งกรรมการสอบ-นายสุเทพต้องลาออกจากตำแหน่ง 7 ธ.ค. 2537

ทว่า ส.ส.กลุ่ม 16 ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ ยังตามขุดคุ้ยข้อมูลไม่เลิก ก่อนลากรัฐบาลมาถล่มกลางสภาด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ที่สุดนายชวนต้องประกาศยุบสภา 19 พ.ค. 2538 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนสภานัดลงมติไม่ไว้วางใจ กลายเป็น “ฝันร้ายพรรคประชาธิปัตย์” ส่วนนายสุเทพแม้ไม่เคยถูกฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลเกี่ยวกับกรณี ส.ป.ก. 4-01 แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ “นักการเมืองสีเทา” ติดตัวเขามาตลอด

ผู้จัดการรัฐบาล-ผู้สร้างตำนาน “งูเห่าภาค 2”

พลันที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอันเป็นไปด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 ภารกิจของนายสุเทพในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มต้นขึ้น

เขาเดินสาย-ดึงเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ “พลิกขั้ว” มาตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดตำนาน “งูเห่าภาค 2” จากการดึง “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่อยู่ในสังกัดพรรคพลังประชาชนเดิมมาเป็นพันธมิตรรัฐบาล

ที่สุดก็สามารถผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้ “นายกฯ คนที่ 27” ด้วยเสียงโหวตในสภา 235 เสียง ทั้งนี้นายสุเทพเคยบอกไว้ว่านี่คือ “ความใฝ่ฝันสูงสุด” ของเขาในทางการเมือง

ผอ.ศอฉ. ออกคำสั่งฆ่าประชาชน?

การได้มาซึ่งอำนาจว่ายากแล้ว แต่การรักษาอำนาจนั้นยากกว่า น่าจะเป็นคำอธิบายที่ตรงกับสถานะของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เพราะตลอดเวลาเกือบ 3 ปีต้องนั่งบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นระลอก

วิกฤตใหญ่เกิดขึ้นในช่วงชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ทำให้รัฐบาลต้องตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีนายสุเทพในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รับบท “ผู้อำนวยการ ศอฉ.” คอยรับมือกับกลุ่มคนที่เขาเรียกว่า “ชายชุดดำ-กองกำลังติดอาวุธ”

เมื่อพื้นที่ขัดแย้ง-เหตุรุนแรงเริ่มขยายวง ศอฉ.ได้ออกคำสั่ง “ขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่” โดยนายสุเทพยืนยันว่าเป็นไป “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนให้รอดพ้นจากภัยคุกคามจากผู้ก่อเหตุร้าย”

ทว่าได้นำมาสู่ความสูญเสียถึง 98 ศพ ทั้งบริเวณสี่แยกคอกวัว แยกราชประสงค์ วัดปทุมวนาราม ฯลฯ ทำให้นายสุเทพถูกกล่าวหาจากคนเสื้อแดงว่าออกคำสั่งฆ่าประชาชน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ถูกโจมตีว่าเป็น “นายกฯ มือเปื้อนเลือด”

รีแบรด์ภาพลักษณ์เป็น “ลุงกำนัน”

การ “รีแบรนด์” ครั้งสำคัญของนักการเมืองที่ชื่อสุเทพเกิดขึ้น หลังเขาตัดสินใจ “เป่านกหวีด” เรียกมวลชนมาชุมนุม ณ สถานีรถไฟสามเสน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2556 เพื่อร่วมต่อต้านการผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง”

ก่อนยกระดับเป็นปฏิบัติการขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยนำ 8 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถอดสูท-ทิ้งสภา-ลงสู่ถนน กลายเป็นผู้นำมวลชนที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)

โดยใช้ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีหลากหลาย เช่น ยุทธศาสตร์ “ดาวกระจาย” เข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง, เปิดปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ตั้ง 7 เวทีชุมนุมใหญ่ใจกลางกรุง-กระจายแกนนำ กปปส.ไปคุมเชิง, ปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งปี 2557 เป็นโมฆะ

ในระหว่างการต่อสู้ที่ไม่รู้จุดจบ นายสุเทพประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งด้วยยอดผู้ชุมนุมมหาศาลจนกลายเป็น “มวลมหาประชาชน” ด้วยยอดเงินบริจาคหลายล้านบาทที่แนวร่วม-นายทุนพร้อมใจกันสมทบทุนในการต่อสู้ และด้วยชื่อใหม่ “ลุงกำนัน” ผู้ขึ้นเวทีปราศรัยทุกวัน-ถ่ายทอดสดผ่านบลูสกาย จนชาวบ้านต่างคุ้นหู-คุ้นตา จนบางคนรู้สึกเหมือนเขาเป็น “ญาติผู้ใหญ่” คนหนึ่ง

กระทั่งวันที่ 204 ของการชุมนุม เป็นวันที่นายสุเทพต้องลาเวที-ลาจอ เมื่อทหารเข้าควบคุมสถานการณ์วันที่ 22 พ.ค. 2557