เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เอาละค้า !! แน่นอนเลยว่า น้ำมันมะพร้าว ได้กลายเป็นอาหาร หรือวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่กลุ่มคนรักสุขภาพนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย นักวิชาการโภชนาการต่างออกมาให้ความรู้ บรรยายคุณประโยชน์ของน้ำมันที่สกัดได้จาก มะพร้าว จนทำให้เกิดกระแสการใช้น้ำมันชนิดนี้มากขึ้น มันดีกว่าน้ำมันหมู หรือไม่ ? เรามาทำความรู้จัก น้ำมันมะพร้าวกันเลย ว่ามีดีอย่างไร

น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil) เป็นน้ำมันสกัดได้จากลูกมะพร้าว ลักษณะใสหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นอยู่กับ วิธีการสกัด นิยมนำมาใช้ในเรื่องความสวยความงาม และการบริโภคเพื่อสุขภาพ สมัยโบราณนิยมนำมาประกอบอาหารทั้งคาว และหวาน รวมถึงการนำมาใช้เพื่อสุขภาพ เช่น การใช้นวดเพื่อรักษาโรคกระดูก แก้ปวดเมื่อย ในด้านความงาม เช่น การใช้รักษาผิวพรรณไม่ให้แห้งกร้านหรือมีรอยเหี่ยวย่น การใช้ชโลมผมให้ดกดำ มันเงา

น้ำมันมะพร้าวแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามการสกัด คือ

น้ำมันสกัดเย็น และน้ำมันสกัดร้อน

1. น้ำมันมะพร้าว RBD เป็นน้ำมัน ที่ได้จากเนื้อมะพร้าวด้วยการบีบ หรือใช้ตัวทำละลาย โดยผ่านความร้อนสูง ด้วย 3 กระบวนการ คือ การทำให้บริสุทธิ์ (refining) การฟอกสี (bleaching) และการกำจัดกลิ่น (deodorization) วิธีเหล่านี้จะทำให้ได้น้ำมันมะพร้าวสีเหลืองอ่อน ปราศจากกลิ่น รส และมีกรดไขมันอิสระไม่เกินร้อยละ 0.1 แต่มีข้อเสียคือ วิตามินอีจะถูกกำจัดออกไป

2. น้ำมันมะพร้าวบีบเย็น (Cold pressed coconut oil) หรือน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ เป็นน้ำมันที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีการบีบแบบไม่ผ่านความร้อนสูง จนได้น้ำมันมะพร้าวลักษณะสีใสเหมือนน้ำเปล่า อุดมด้วยวิตามินอี มีกรดไขมันอิสระต่ำ แต่ยังคงกลิ่นมะพร้าวเล็กน้อย มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 1 เป็นน้ำมันที่นิยมผลิตมากในภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และสามารถผลิตเองได้ในครัวเรือนจึงมีการจำหน่าย และใช้กันมากในปัจจุบัน

น้ำมันมะพร้าว ดีกว่าน้ำมันหมู หรือไม่?

จริงๆ แล้ว น้ำมันหมู ไม่ได้มีอันตรายเหมือนที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน ว่ามีคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน ฯลฯ ถ้าหากเราบริโภคให้พอดี น้ำมันหมูได้จากการเจียวหนังหมู ในกระทะร้อน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม เป็นวิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เพียงแต่มีปริมาณไขมันค่อนข้างสูง ไม่เหมือนกับน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม ที่ต้องใช้วิธีการหลายขั้นตอน ซึ่งอาจมีสารที่ได้จากกลั่น การสกัดปนด้วย และถ้ายิ่งใช้ซ้ำก็ยิ่งเสี่ยงต่อการสะสมในร่างกาย ส่วนน้ำมันมะพร้าว ที่เรานำมาใช้บริโภคนั้น จะนิยมการใช้วิธีสกัดเย็น จะได้น้ำมันที่บริสุทธิ์ มีวิตามินอี และกรดไขมันต่ำ

ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว

นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล และ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ได้กล่าวถึงปริมาณแคลอรี กับ น้ำมันมะพร้าวที่เหมาะสมกับร่างกายคนเราไว้ในหนังสือเรื่อง “น้ำมันมะพร้าว รักษาโรค” ดังนี้

น้ำมันมะพร้าวได้ชื่อว่าเป็น “น้ำมันแคลอรีต่ำ” และมีส่วนช่วยลดน้ำหนักได้ แม้จะได้ชื่อว่าแคลอรีต่ำก็ยังอยู่ที่ 6.8 แคลอรีต่อกรัม ซึ่งก็ยังสูงกว่าแป้งและโปรตีนอยู่ดี แต่สาเหตุที่น้ำมันมะพร้าวช่วยลดน้ำหนักได้ ก็เพราะเมื่อกินน้ำมันมะพร้าวร่วมกับอาหารอย่างเหมาะสม จะทำให้รู้สึกอิ่มท้อง ไม่กระวนกระวายอยากกินของจุบจิบ ซึ่งเป็นปกตินิสัยที่ไม่ค่อยดีของคนอ้วนทั้งหลายอยู่แล้ว”

ข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นคือผู้ที่บริโภคน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีกรดไขมันสายปานกลางสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่น จึงพบว่าอัตราการเผาผลาญเป็นพลังงานของร่างกายจะสูงขึ้นไปด้วย

งานวิจัยของสกาฟี (Scalfi, L., et Al. Pospandial thermogenesis in lean and obese subjects after meals supplemented with medium-chain and long-chain triglycerides. ตีพิมพ์ใน Am J Clin Nutr 1991; 53:1130-1133) โดยเขาได้ศึกษาพลังงานที่ใช้ก่อน และหลังมื้ออาหารที่ใส่น้ำมันสายโซ่ปานกลาง พบว่าในคนรูปร่างปกติเมื่อดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้ว อัตราเผาผลาญพลังงานจะเพิ่มขึ้นถึง 48% ในขณะที่คนอ้วนพบว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยให้อัตราเผาผลาญเพิ่มขึ้นถึง 65% หมายความว่าคนอ้วนจะถูกกระตุ้นให้เผาผลาญอาหารได้เร็วขึ้นด้วยน้ำมันมะพร้าวมากกว่าคนผอม

คุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวสำหรับการดื่มหรือมาทำอาหาร สามารถสรุปได้ดังนี้

น้ำมันมะพร้าว

1. ในน้ำมันมะพร้าวส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวมากที่สุดในโลก หมายความว่าสายโซ่คาร์บอน ได้จับกับไฮโดรเจนครบแขน ไม่เปิดช่องให้ออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่น จึงไม่เกิดอนุมูลอิสระ เมื่อเป็นไขมันที่แทบไม่เกิดอนุมูลอิสระ ก็จะไม่ส่งผล และเกิดความเสื่อมกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์

2. น้ำมันมะพร้าว มีคุณสมบัติอิ่มตัวมากที่สุดในโลก เมื่อโดนความร้อน จึงไม่เปิดโอกาสให้ออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยาใดๆ ที่เกิดโครงสร้างบิดตัวกลายเป็นไขมันทรานส์ได้ จึงไม่ก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหลอดเลือดอุดตัน และเป็นโรคหัวใจ

3. น้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบเป็นกรดไขมัน และไตรกลีเซอร์ไรด์สายโซ่ปานกลางมากที่สุดในโลก ทำให้ดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็วมากภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่เหลือไขมันตกค้าง

4. เป็นอาหารแก่เซลล์ได้รวดเร็วมาก โดยไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ต่างจากการได้สารอาหารจากแป้ง กลูโคสในน้ำตาล หรือจากกรดไขมันสายยาวชนิดอื่น จึงเหมาะสมเป็นอาหารเสริมให้กับผู้ทีป่วยเป็นโรคเบาหวาน และกลุ่มโรคสมองเสื่อม (ความจำเสื่อม, พาร์กินสัน, ลมชัก, อัมพาต) ยังรวมไปถึงโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ วิธีการบริโภคกลุ่มนี้คือ งดแป้ง งดน้ำตาล และบริโภคน้ำมันมะพร้าวเสริม

5. กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้เพิ่มอัตราการเผาผลาญร่างกายได้สูงขึ้น ช่วยให้ร่างกายสามารถแปลงคอเลสเตอรอล เป็นฮอร์โมน เยื่อหุ้มเซลล์ และน้ำดีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวแทบทุกคนจะมี ไลโปโปรตีนชนิดหนาแน่นสูง High Density Lipoprotein หรือ HDL (ไขมันตัวดี) เพิ่มขึ้นทุกคน เพราะตับจะผลิต HDL ดึงคอเลสเตอรอลและ Low Density Lipoprotein หรือ LDL (ไขมันตัวเลว) ส่งไปใช้งานที่ตับได้มากขึ้น

6. เมื่ออัตราการเผาผลาญสูงขึ้น จึงทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ระบบการขับถ่ายดีขึ้น ในช่วงแรกของนักบริโภคมือใหม่ จึงอาจต้องค่อยๆ ปรับระดับการบริโภคให้ทยอยเพิ่มขึ้นจากน้อยไปหามาก เพราะอาจมีอาการคล้ายท้องเสียบ้าง

7. โมโนลอริน ซึ่งเป็นโมโนกลีเซอไรด์ของกรดลอริก โมโนคาโปรอิน ซึ่งเป็นโมโนกลีเซอไรด์ของกรดคารปริลิก โมโนคาปริลินของกรดคาปริก ซึ่งอยู่ในน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยิสต์ โปรโตซัว ที่ก่อโรคต่างๆ และยังกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T เซลล์ น้ำมันมะพร้าวจึงเป็นสิ่งที่ฆ่าเชื้อก่อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

8. น้ำมันมะพร้าวมีสารต้านอนุมูลอิสระ ในรูปของ วิตามินอี สารฟีนอล และสารไฟโตสเตอรอล

ประโยชน์ในด้านความงาม

น้ำมันมะพร้าว สามารถนำมาใช้ทาผิวหน้า ร่างกาย และหมักผมได้
1. ใช้ทาผิวหน้า ผิวกาย เพื่อเก็บกักความชุ่มชื่นได้แทนโลชั่น ช่วยป้องกันมลภาวะจากภายนอก ที่เป็นตัวการทำร้ายผิว และลดการอักเสบของผิว
2. สามารถนำมาใช้เช็ดเครื่องสำอางบนใบหน้าได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติความมัน
3. เหมาะสำหรับหมักผม เป็นการบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง ใช้ได้ทั้งก่อนและหลังทำความสะอาดเส้นผม เนื่องจากมีวิตามินอีสูง
4. ใช้นวดตัว เพื่อบำบัดให้ร่างกายผ่อนคลาย ปัจจุบันนิยมใช้ในวงการสปา การนวดทั้งแบบแผนไทย และแบบประยุกต์