เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เอาละค้า !! แน่นอนเลยว่า หาว เป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ ในมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าทำไมคนเราถึงต้องหาว แต่มีทฤษฎีอยู่มากมายเลยนะที่อธิบายว่า ทำไมคนเราถึงต้องหาว และทำไมเราถึงต้องหาวตามกัน ซึ่งทฤษฎีพวกนั้นก็ได้แก่ อะไรบ้างไปดูกันเลยยย 

Image result for การหาว

ช่วยให้เรารู้สึกตื่น

เป็นที่รู้กันดีว่า การหาวมักจะตามมาด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการบิดขี้เกียจ ซึ่งพฤติกรรมอันน่ารำคาญพวกนั้น อาจช่วยยับยั้งความรู้สึกง่วงที่เกิดขึ้นมาได้ นอกจากนี้กล้ามเนื้อพิเศษที่อยู่ในหู (กล้ามเนื้อเทนเซอร์ทิมพานี) จะถูกกระตุ้นในช่วงที่หาวด้วย ซึ่งจะทำให้แก้วหูและการได้ยิน ถูกกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ขึ้นมาใหม่ด้วย และนั่นจะช่วยเพิ่มความสามารถในการติดตามสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา หลังจากที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงก่อนที่จะเกิดอาการหาว แถมดวงตาที่เปิดกว้างขึ้น ยังอาจช่วยให้เพิ่มการตื่นตัวในการมองเห็นให้เราด้วย

ช่วยเพิ่มความเย็นให้สมอง

อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่า การหาวช่วยให้สมองเย็นตัวลง เนื่องจากการหาวจะต้องทำให้ต้องสูดหายใจเข้าไปลึกๆ เพื่อดึงอากาศเย็นๆ เข้าไปทางปาก จากนั้น ก็ทำให้เลือดที่กำลังจะสูบฉีดไปเลี้ยงสมองเย็นตัวลง ผู้ตั้งทฤษฎีนี้ขึ้นมาอ้างว่า มีการสังเกตเห็นอุณหภูมิของสมองเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนที่จะเกิดอาการหาว และสังเกตเห็นอุณหภูมิที่ลดลงในช่วงหลังเกิดอาการหาว แต่การศึกษาวิจัยในครั้งนี้รายงานว่า อุณหภูมิของร่างกายและสมองที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะทำให้เกิดการหาวอย่างมากมาย แต่ไม่ได้ระบุว่าจะช่วยทำให้สมองเย็นลง

นอกจากนี้ยังมีการสังเกตเห็นอัตราการหาวที่เพิ่มขึ้นในคนที่เป็นไข้ด้วย จึงมีการระบุว่า การหาวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุณภูมิของร่างกายที่อบอุ่นขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ในเรื่องที่การหาวจะช่วยทำให้อุณหภูมิของร่างกายเย็นตัวลง แค่ยืนยันว่าอุณหภูมิของร่างกายที่อบอุ่นขึ้น ทำให้เกิดอาการหาวขึ้นมาได้เท่านั้นเอง

ทำหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัย

มีการพบว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั้งหมดมีพฤติกรรมที่คล้ายๆ อาการหาวเกิดขึ้นเหมือนกัน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้วก็ได้ โดยทฤษฎีนี้ได้ตั้งสมมุติฐานว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เวลาที่เรามีท่าทีที่จะถูกสัตว์เผ่าพันธุ์อื่นๆ โจมตีได้ง่าย มนุษย์ก็จะทำหน้าที่ป้องกันให้กันและกัน การหาวจึงเปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเฝ้าระวังภัยในยุคที่มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

ทำไมถึงมีการหาวตามกัน

การหาวเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการหาวตามกันได้ ฉะนั้น เวลาที่เห็นใครหาวเราก็มักจะเกิดอาการหาวตามไปด้วย ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าการหาวตามๆ กันนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับระดับความเข้าอกเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น

นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่มีการพบว่า ในกลุ่มคนที่เป็นโรคออทิสติกนั้น มักจะไม่ค่อยเกิดอาการหาวตามกัน รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่มีความอาทรต่อผู้อื่นด้วย นอกจากนี้สุนัขก็ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นสูงด้วย ฉะนั้น จึงสามารถหาวตามมนุษย์ได้เหมือนกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือนักประสาทวิทยาได้ตั้งสมมุติฐานไว้มากมายว่าทำไมคนเราถึงต้องหาว ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพกลไกที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการหาวขึ้นมา แต่คำตอบที่แน่ชัดว่าทำไมคนเราถึงต้องหาวนั้นยังเป็นปริศนาอยู่

จริงๆ แล้วการหาวอาจเป็นสัญญานทางร่างกาย ที่เกิดอาการชิงดีชิ่งเด่นกันระหว่างอาการตื่นตัวและอาการง่วงนอน แล้วในที่สุดก็ทำให้เกิดอาการงัวเงียขึ้นมา แต่อาการง่วงนอนเกิดมีชัยขึ้นมา แล้วชี้ชวนให้คนขับจอดรถเพื่อพักผ่อนล่ะก็ เราก็ควรทำตามคำสั่งของร่างกายนะ

ไม่อยากหาว ลองทำแบบนี้

  • หายใจเข้าออกลึกๆ ถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองเกิดอาการหาวอย่างมากมาย ก็ลองฝึกหายใจเข้าออกทางจมูกลึกๆ ร่างกายอาจต้องการออกซิเจนในปริมาณมากขึ้น การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าการหายใจเข้าออกลึกๆ จะช่วยลดอาการที่อยากหาวตามๆ กันได้

  • เคลื่อนไหวร่างกาย คุณควรเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น อย่างนั่งนิ่งๆ นอกจากนี้ การหยุดทำอะไรที่เป็นกิจวัตรก็จะช่วยกระตุ้นสมองให้เราได้ ฉะนั้น ความรู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อยหน่าย และเครียดนั้น มักจะทำให้คนเราเกิดอาการหาวมากขึ้นได้ อาการหาวอย่างมากมายอาจเป็นผลมาจากการบริโภคคาเฟอีนเข้าไปมากเกิน เลยทำให้ร่างกายต้องทำการล้างสารพิษนั้นออกมา และกระบวนการล้างพิษนั้นก็จะทำให้เรารู้สึกงัวเงียขึ้นมาได้เหมือนกัน

  • ทำร่างกายให้เย็นลง คุณอาจใช้วิธีออกไปเดินเล่น ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท หรือมีอุณหภูมิที่เย็นฉ่ำกว่าที่เป็นอยู่ แต่ถ้าคุณไม่มีเวลาจะทำเช่นนี้ได้ ก็ลองดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ หรือกินขนมเย็นๆ อย่างไอศครีมหรือน้ำแข็งใสดูก็ได้ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเย็นลงแล้ว ก็น่าจะช่วยให้อาการหาวดีขึ้นได้

ถ้า หาวบ่อย เกินไปควรต้องไปพบคุณหมอหรือไม่

คุณควรไปพบคุณหมอ ถ้ารู้สึกว่าอาการหาวของคุณไม่ปกติ และมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคุณ คุณควรบอกคุณหมอว่า มีอาการหาวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รวมทั้งอาการอย่างอื่นร่วมด้วย อย่างเช่น การเห็นภาพพร่ามัว เจ็บปวดในบริเวณไหน หรืออดหลับอดนอนหรือเปล่า ข้อมูลพวกนี้อาจช่วยคุณหมอวินิจฉัยอาการที่ซ้อนเร้นอยู่ได้ รวมทั้งแนะนำการรักษาที่เหมาะกับคุณ