เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

32 ปี “แกรมมี่”
กับวิสัยทัศน์ธุรกิจ “ไพบูลย์”

     

     จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในปี 2558 ได้ฝ่าฟันธุรกิจมาแล้ว 32 ปีเต็ม ผมเข้าสู่วงการนักข่าวก่อนหน้าแกรมมี่ไม่กี่ปี ถ้าเป็นคนก็ต้องถือเป็นเจเนอเรชั่นเดียว ภาษาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่า “โตมาด้วยกัน” การก้าวย่างของแกรมมี่ ผมเห็นมากับตาจากวันนั้นถึงวันนี้
     สัปดาห์ที่แล้ว GTH ปิดตัวลง สลายหุ้นที่ถือกันอยู่ 3 เจ้า คือ G. แกรมมี่ (50%) T. ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (30%) H. หับโห้หิ้น (20%) ทั้งๆ ที่ GTH คือบริษัทหนังไทยเจ้าแรกของประเทศที่ “ทำหนังแล้วกำไร” ถ้าเทียบกับบริษัทหนังไทยอีกหลายๆ เจ้าในประเทศ เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่แกรมมี่ประกาศยุบบริษัทที่ทำกำไร…สาเหตุการยุบ GTH คือเป็นอย่างที่ บุษบา ดาวเรือง เพื่อนรักผมแถลงจริงหรือไม่
    32 ปีแกรมมี่…ต้องบอกว่านี่คือความมหัศจรรย์ธุรกิจบันเทิงในวันเริ่มแรก พี่บูลย์ หรือ อากู๋ หรือ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ไม่ได้คาดหวังหรอกว่า แกรมมี่จะมาเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงธุรกิจประเทศไทย ไม่ใช่เป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงธุรกิจบันเทิงเท่านั้น-เฉพาะพนักงานอย่างเดียวมีถึง 5,216 คน-เข้าตลาดหลักทรัพย์ 2537 
    รายรับต่อปีก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แกรมมี่โกยกำไรปีละ 3 พันล้านบาทจากผลประกอบการธุรกิจเพลงและคอนเสิร์ต พอเข้าตลาดหลักทรัพย์มูลค่ารายรับก็พุ่งตลอดทุกปี จนแกรมมี่ติดลมบน เจ้าของใหญ่อย่างไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ทะยานขึ้นเป็นมหาเศรษฐีของประเทศ ครองสินทรัพย์และเงินสดหลายหมื่นล้าน ปีที่ได้กำไรสูงสุดคือปี 2547 แกรมมี่ทำกำไร 6,671 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าหุ้นแกรมมี่ในตลาดพุ่งขึ้นเป็น 12,000 ล้านบาทที่ใครๆ ก็ทึ่ง
    มันคือความเป็น “แกรมมี่” ฉบับย่อ ซึ่งก็พอมองภาพออกว่า 32 ปี ของแกรมมี่สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ในวงการอย่างน่าอัศจรรย์ใจ สิ่งที่เห็นชัดเจนในแกรมมี่คือ เป็นองค์กรเดียวก็ว่าได้ที่คนอยากเข้าร่วมงานมากที่สุด ใครได้ทำงานแกรมมี่เสมือนหนึ่งว่าประสบผลสำเร็จในชีวิต ในหน้าที่การงาน ออกแล้วไม่อยากทำงานที่อื่น ไม่ว่าพนักงานทั่วไป หรือนักร้อง
    32 ปีแกรมมี่คือความทรงจำหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือการสร้างระบบเพลงให้กลายเป็นอินเตอร์ ไม่ว่าลิขสิทธิ์เพลง, คาราโอเกะ รวมถึงการครองสิทธิ์เพลงดังจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ออกจากแกรมมี่ไปแล้ว ร้องเพลงตัวเองแต่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แกรมมี่ แม้ศิลปินจะไม่พอใจบ้างแต่แกรมมี่ก็บอกว่า ถ้าเขาไม่ลงทุนทำเพลง ไม่โปรโมทเพลงก็ไม่ดัง ความดังของคุณมาจากความคิดสร้างสรรค์ของทีมงาน 80% นักร้องผู้ถ่ายทอดมีเพียง 20% 
    นักร้องเก่าๆ แกรมมี่ที่เคยดังๆ ออกจากแกรมมี่ไปแล้วแต่ก็ไม่มีใครไปอยู่ค่ายอื่นที่เป็นคู่แข่ง ยังคงขายของเก่ากิน รับคอนเสิร์ตร้องเพลงที่เคยดังจากแกรมมี่เลี้ยงตัวเอง
    ในปีที่ 32 ปี คือปีที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายกับแกรมมี่ตั้งแต่วันที่เข้าประมูลทีวีดิจิตอลและได้มา 2 สถานีคือช่องวันและช่อง GMM CHANNEL เพราะความไม่ชัดเจนของกสทช.ในรายละเอียดการประมูลและความไม่ชัดเจนเรื่องธุรกิจทีวี ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย 
    ทั้งเรื่องอนาล็อกเก่า ทั้งโครงข่าย ทั้งการแจกคูปองซื้อกล่อง ทุกอย่างไม่เสถียรไปหมด ทำให้ภาพรวมของทีวีดิจิตอลสะดุดลง ทุกเจ้าที่ประมูลได้เลือดไหลไม่หยุดสักคน-ไม่เว้นแม้แต่แกรมมี่
    ถ้าถามว่าทีวีดิจิตอลที่มีอนาคต-คอนเทนต์ดีตั้งแต่เปิดสถานียันปิดสถานีช่อง ONE (วัน) ที่ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ดูแล เป็นช่องหนึ่งที่เรียกได้ว่าน่าดูที่สุด ไม่ว่าข่าวหรือวาไรตี้เกมโชว์ คาดว่าจะเป็นสถานีหนึ่งที่จะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของช่องแชมป์เก่าอย่างช่อง 3-ช่อง 7 ในอนาคตอันใกล้
    ในปีที่ 32 ปี คือปีที่เรามองเห็นว่า “แกรมมี่” รับบท “ถอย” ในทางธุรกิจ ไม่ว่า “ถอย” เรื่อง GMZ คือสละเรื่องธุรกิจกล่องเคเบิ้ลที “ถอย” เรื่องธุรกิจสิ่งพิมพ์ ปล่อยให้เจ้าถิ่นเอาไปปั้นเพื่อเป็นธุรกิจต่อไป “ถอย” เรื่องธุรกิจคาราโอเกะที่ตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปสู่มือเมเจอร์ “ถอย” เรื่องค่ายทำหนัง GTH  ทั้งๆ ที่ตัวเองครอง “เบอร์ 1” ของวงการอยู่- ทำเอาคนทั้งประเทศแปลกใจไม่น้อย
    “แกรมมี่” เมื่อก่อนทีวีดิจิตอลคือยักษ์ใหญ่ที่ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าและเป็นเจ้าเดียวที่จับอะไรก็เป็นเงิน
    วิสัยทัศน์ของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นักธุรกิจวัย 66 ปีเศรษฐีหมื่นล้าน จำเป็นหรือไม่กับการต่อสู้ทางธุรกิจที่ต้องแบกธุรกิจแขวนไว้บนบ่า
    ก้าวต่อไปจากนี้ธุรกิจอย่างที่ไพบูลย์จะทุ่มเทให้ยิ่งใหญ่ด้วยศักยภาพที่แกรมมี่มีและถนัดคือ ธุรกิจทีวีดิจิตอล, ธุรกิจเพลง, และธุรกิจวิทยุแขนงอื่นๆ ระหว่างนี้ปล่อยไปก่อน ถึงเป็นถ่วงเรื่องเงินแต่ก็ถ่วงทางความรู้สึก
    ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตัดสินใจแบบนี้ของ “ไพบูลย์” โดยเฉพาะเป้าหมายในห้วงที่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทุ่มเทในส่วนที่ตัวเองถนัดดีกว่ากางแขนโอบไปทั่ว เลยกลายเป็นเรื่องห่วงหน้าพะวงหลัง
    32 ปีแกรมมี่จะเป็น 33-34-35-36 หรือ 40 ปีในอนาคต ก็จะเป็นการเจริญงอกงามจากมันสมองของผู้ชายชื่อ ไพบูลย์ อยู่ดี…คำพูดหรือคำแนะนำจากรอบนอก ยังไงๆ ก็เป็น “คนอื่น” อยู่ดี
    มุ่งมั่น เชื่อมั่นและมั่นคงกับวิธีคิดตัวเอง คือสิ่งที่ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ยึดถือปฏิบัติในวันนี้ ผมเข้าใจแกรมมี่กับการก้าวเดินในวันนี้….เป็นกำลังใจให้ครับ

Tony Aigner

by TVPOOL ONLINE

TV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool Online